ประวัติ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
ประวัติและปฏิปทา
พระภาวนาโกศล
(หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)
วัดหนัง ราชวรวิหาร
แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
• ชาติภูมิ
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) เดิมชื่อ “เอี่ยม” เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด บ้านอยู่ริมคลองบางหว้าหลังวัดหนัง ราชวรวิหาร กำเนิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๙๔ ปีมะโรง จัตวาศก ตรงกับ วันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๗๕ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีนามสกุลว่า “ทองอู๋” ชาวบ้านบางขุนเทียนเรียกกันว่า “หลวงปู่เฒ่า” หรือ “ท่านเจ้าคุณเฒ่า” ส่วนบุคคลทั่วๆ ไป และนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย เรียกว่า “หลวงพ่อวัดหนัง”
โยมบิดา-มารดามีชื่อว่า นายทอง และนางอู่ ซึ่งเป็นต้นตระกูล “ทองอู๋” โยมทั้งสองท่านประกอบอาชีพเป็นชาวสวนและมีฐานะมั่นคง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้มีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ บุคคลชั้นหลังของตระกูลนี้ขอใช้นามสกุลว่า “ทองอู่” อันเป็นนามรวมของโยมทั้งสองท่าน แต่ต่อมาไม่นานนัก ก็ได้มีเจ้านายพระองค์หนึ่งทักท้วงว่าไปพ้องกับพระนามของเจ้าต่างกรมพระองค์เข้า จึงต้องเปลี่ยนมาเป็น “ทองอู๋” สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้
พี่น้องร่วมท้องเดียวกับหลวงปู่เอี่ยม มีเพียงคนเดียวคือ โยมพี่สาวชื่อ นางเปี่ยม ทองอู๋ เป็นผู้รักษาศีลอุโบสถและไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว ดังนั้น เมื่อสิ้นโยมบิดา-มารดาแล้ว จึงมาฝากไว้ในความดูแลอุปการะของ นายทรัพย์ ทองอู๋ บิดาของนายพูน ทองพูนกิจ ดังนั้น ผู้สืบเชื้อสายสกุล “ทองอู๋” จึงเป็นบุตร-หลานสายของนายทรัพย์ ทองอู๋ ผู้เป็นบุตรของลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่เอี่ยมนั้นเอง
หมายเหตุ : อ้างถึงตามบันทึกของ พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖ มีใจความว่า หลวงปู่เอี่ยมท่านเกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๙๔ ปีมะโรง จัตวาศก ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๗๕ เมื่อตรวจสอบกับปฏิทิน ๒๒๐ ปี (ร.อ.ทองคำ ยิ้มกำภู ปฏิทิน ๒๒๐ ปี) แล้วปรากฏว่าเป็น วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ตรงตามนั้นจริง
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคำจารึกบน เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ทั้ง ๒ รุ่นที่ทันท่านปลุกเสก คือ เหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ และ เหรียญรุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่ว่า ปีมะโรง จัตวาศก วัน ๖ เดือน ๑๑ เห็นว่าไม่ตรงกัน มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างเล็กน้อย หากยึดตามคำจารึกบนเหรียญทั้ง ๒ แล้ว ที่ถูกต้องก็คือ ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๕ ตุลาคม ศกเดียวกัน
• การศึกษา
การศึกษาอักษรสมัย เมื่ออายุได้ ๙ ปี โยมทั้ง ๒ ของท่านได้นำมาฝากเรียนหนังสือในสำนัก พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูธรรมถิดาญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ซึ่งในสมัยต่อมาได้เป็นพระอาจารย์วิทยาคมของหลวงปู่เอี่ยม
การศึกษาพระปริยัติธรรม เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนัก พระมหายิ้ม วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อจากนั้นได้ไปอยู่ในสำนัก พระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร (วัดเลียบ)
• การบรรพชา
ต่อมาท่านได้กลับมาบรรพชาเป็นสามเณร และศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนัง ราชวรวิหาร สำนักเดิมของท่านอีกวาระหนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ดำเนินมาหลายปีติดต่อกัน
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๔ เมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี จึงได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง ซึ่งสมัยนั้น ต้องเข้าสอบแปลปากเปล่าต่อหน้าพระพักตร์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่น่าเสียดายที่ท่านสอบพลาดไป เลยลาสิกขากลับไปช่วยโยมบิดา-มารดาประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง
• การอุปสมบท
อาจจะเป็นด้วยบุญกุศลที่จะต้องเป็นสมณเพศเพื่อพระศาสนา เพื่อการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์สังฆาวาส เสนาสนะแห่งวัดนี้ ให้ฟื้นฟูคืนจากสภาพอันทรุดโทรมขึ้นสู่ยุคอันรุ่งเรืองสูงสุดในกาลสมัยต่อมา หรือเพื่อความเป็นพระเกจิอาจารย์ชั้นเยี่ยมแห่งองค์พระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า และเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลาย หลวงปู่เอี่ยมท่านจึงหันกลับเข้ามาสู่ร่มเงาแห่งกาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้จากไปเพียง ๓ ปีเท่านั้น
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี หลวงปู่เอี่ยมท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามขนบจารีตอันดั้งเดิมของชาวไทย เพื่อสืบต่ออายุพระบวรพุทธศาสนา และเพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมแด่โยมผู้บุพการีทั้งสอง ซึ่งท่านได้ทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร (วัดจอมทอง) อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี (เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน) โดยมี พระสุธรรมเทพ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระธรรมเจดีย์ (จีน) กับ พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) วัดนางนอง วรวิหาร เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุวณฺณสโร” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า แกร่งดังทอง, บริสุทธิ์ดุจดังทอง
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่เอี่ยมได้ไปจำพรรษาอยู่กับพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) ณ วัดนางนอง วรวิหาร ตรงข้ามกับวัดหนัง ราชวรวิหาร เพื่อศึกษาด้านวิปัสสนาธุระและพุทธาคมต่างๆ ส่วนการศึกษาด้านคันถธุระนั้น ได้ศึกษาต่อ ณ สำนักพระธรรมเจดีย์ (จีน) และพระสังวรวิมล (เหม็น) แห่งวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ท่านได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมสนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่คงสอบไม่ได้อีกเช่นเคย จะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ไม่ทราบ ครั้งนั้นท่านต้องนั่งคุกเข่าสูงประนมมือตลอดเวลาที่แปลต่อหน้าพระมหาเถระผู้ใหญ่ พระมหาเถระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการ บอกกับท่านเมื่อแปลจบแล้วว่า แปลได้ดี และชักชวนให้ไปอยู่สำนักเดียวกัน แต่หลวงปู่เอี่ยมท่านปฏิเสธ
หลังจากนั้นท่านก็ไม่เคยสมัครสอบอีกเลย แต่ก็ยังคงศึกษาค้นคว้าในด้านพระปริยัติธรรมตลอดมา หลวงปู่เอี่ยมท่านจึงเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม ทั้งยังเคยสอนพระบาลีแด่พระภิกษุ-สามเณร ตั้งแต่ครั้งอยู่วัดโคนอน แม้เมื่อมาครองวัดหนัง ราชวรวิหาร ต้องรับภาระการบูรณปฏิสังขรณ์พื้นฟูสภาพวัดที่ทรุดโทรมถึงที่สุด จึงได้เชิญนายมิ่ง รักศ์ชินวงศ์ และนายสว่าง ดีทวี มาเป็นครูสอนพระบาลีแทน
รูปภาพ
พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ณ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี
• การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระและพุทธาคม
ปรากฏตามหลักฐานชัดเจนว่า หลวงปู่เอี่ยมได้ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ และพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ กับ พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) เจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในคราวอุปสมบทของท่านเอง หลวงปู่รอดท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่เก่งกล้าในด้านพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ มีตบะเดชะที่กล้าแข็ง และสำเร็จวิชชา ๘ ประการ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่วงรู้วาระจิต รู้อดีต รู้อนาคต แสดงฤทธิ์ได้ ฯลฯ และจากการศึกษาชีวประวัติของหลวงปู่เอี่ยม จะเห็นได้ว่าท่านเจริญรอยตามพระอาจารย์รูปนี้มาโดยตลอด ท่านถอดแบบอย่างมาจากหลวงปู่รอดแทบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน หลวงปู่รอดเก่งอย่างไร หลวงปู่อี่ยมก็เก่งอย่างนั้น เช่นเดียวกับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจริญรอยตาม สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ผู้สร้างพระสมเด็จ “อรหัง” และพระสมเด็จฯ วัดพลับ เช่น ในการที่หลวงปู่เอี่ยมท่านได้สร้างพระปิดตาและพระปิดทวาร ฯลฯ ขึ้น ก็ถอดลักษณะมาจากพระเครื่องทั้ง ๒ ชนิดของหลวงปู่รอด
อัตโนประวัติของ “หลวงปู่รอด” ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าท่านเป็นบุตรของใคร เนื่องจากท่านเป็นพระเถราจารย์ยุคเก่า แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐานท่านมีพื้นเพและภูมิลำเนาเดิมอยู่คลองขวาง ต.คุ้งเผาถ่าน อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี (ในสมัยนั้น) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระครูธรรมถิดาญาณ” หลวงปู่รอดท่านเป็นฐานานุกรมของ พระนิโรธรังสี พระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดหนัง ราชวรวิหาร ในยุคของการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเป็นพระเถระผู้เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระที่สำคัญรูปหนึ่ง ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นพระผู้เรืองในพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ เมื่ออยู่วัดหนัง ราชวรวิหาร อยู่หมู่กุฏิสงฆ์คณะสระ ครั้นเมื่อ พระนิโรธรังสี ถึงแก่มรณภาพแล้ว ท่านได้รักษาการเจ้าอาวาสอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ “พระภาวนาโกศล”
เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร ท่านได้เอาใจใส่ดูแลพัฒนาพระอารามแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ โดยมี หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร ศิษย์ผู้ใกล้ชิด เป็นกำลังอันสำคัญคอยดูแลเอาใจใส่ในทุกด้าน หลวงปู่เอี่ยมจึงเป็นที่ไว้วางใจและได้รับการถ่ายทอดพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ จากหลวงปู่รอดจนหมดสิ้น ในระหว่างพำนักจำพรรษา ณ วัดนางนอง วรวิหาร แห่งนี้ หลวงปู่เอี่ยมได้รับแต่งตั้งเป็น พระใบฎีกา และ พระปลัด ตามลำดับ ในฐานานุกรมของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) จนกระทั่งมีเหตุต้องย้ายไปอยู่ วัดโคนอน
สำหรับมูลเหตุแห่งการย้ายไปอยู่วัดโคนอนนั้น ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดนางนอง วรวิหาร เล่ากันว่า หลวงปู่รอดไม่ยอมถวายอดิเรก นับเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงถวายผ้าไตรเสร็จสิ้นแล้ว พระสงฆ์ต้องถวายอดิเรกตามธรรมเนียมพระราชประเพณี แม้หลวงปู่เอี่ยมซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระปลัด ได้เตือนให้ถวายอดิเรกแล้ว แต่ท่านก็ยังนิ่งเฉยเสีย เป็นที่โจษจันกันมากว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วมาก เสด็จออกมานอกพระอุโบสถทันที แล้วทรงตรัสด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า “เขาถอดยศเราๆ”
ต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) ออกจากสมณศักดิ์ ในฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกพัดยศคืน หลวงปู่รอดท่านจึงได้ย้ายกลับไปอยู่วัดบ้านเกิดที่ห่างไกลจากความเจริญ คือ วัดโคนอน ซึ่งอยู่ในคลองขวางฝั่งตะวันตก ภาษีเจริญ และได้มรณภาพที่วัดแห่งนี้
ผู้คนพากันโจษขานว่า เหตุที่หลวงปู่รอดท่านไม่ยอมถวายอดิเรกในคราวนั้น เป็นการเอาอย่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือท่านขรัวโต ที่กล้าเตือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ และท้ายที่สุดพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ไม่ทรงกริ้ว ทั้งยังทรงตรัสว่า “ยอมให้ท่านขรัวโตผู้เดียว”
แต่เมื่อมีเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ไปสอบถามท่าน ณ วัดโคนอน หลวงปู่รอดท่านตอบว่า สาเหตุที่ท่านไม่ยอมถวายอดิเรกนั้น เป็นเพราะท่านไม่พอใจในการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แบ่งแยกพระสงฆ์ของไทยออกเป็น ๒ นิกาย คือ มหานิกาย กับ ธรรมยุติกนิกาย อันเป็นสาเหตุให้คณะสงฆ์แตกแยกกัน
เมื่อความทราบถึงพระเนตร พระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า หลวงปู่รอดผู้นี้ยอมสละสมณศักดิ์เพื่อบูชาพระวินัย ท่านเป็นผู้ไม่เห็นแก่ลาภยศทั้งปวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สัตบุรุษ คือ ท่านเจ้ากรมสังฆการี นำพัดยศและสมณศักดิ์มาถวายคืนให้กับหลวงปู่รอด เพื่อให้ดำรงสมณศักดิ์ดังเดิม แต่หลวงปู่รอดท่านไม่ยอมรับ และได้พูดกับสังฆการีว่า
“ใครเป็นผู้ถวายแก่อาตมา แล้วใครเล่าที่ขอคืนไป บุรุษท่านจงเอากลับคืนไปเถิด”
ในขณะนั้นหลวงปู่เอี่ยมท่านบวชได้ ๑๖ พรรษา ในฐานะศิษย์ผู้ใกล้ชิด จึงได้ย้ายจากวัดนางนอง วรวิหาร ติดตามไปคอยปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ของท่าน ณ วัดโคนอน สำนักใหม่ อย่างไม่ลดละ แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณ และน้ำใจอันประเสริฐต่อผู้เป็นพระอาจารย์ แม้ในยามถูกราชภัย ถูกถอดสมณศักดิ์ลงเป็นขรัวตาธรรมดา ต้องตกทุกข์ได้ยาก อับวาสนา ก็ไม่ยอมตีตัวออกห่าง ยังติดตามไปคอยปรนนิบัติรับใช้อย่างใกล้ชิด นับว่าเป็นคุณธรรมที่ปรากฏเล่าขานสรรเสริญกันมาจนทุกวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลวงปู่รอดจะประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยาการนานาประการให้กับหลวงปู่เอี่ยมจนสิ้นภูมิความรู้ที่มี อย่างไรก็ตาม หลวงปู่เอี่ยมมักจะพูดถึงและย้ำอยู่เสมอว่า “ท่านเก่งสู้อาจารย์ไม่ได้ มีวิชาอีกหลายอย่างที่ท่านศึกษาไม่ถึง” ต่อมาหลวงปู่รอดท่านได้สร้าง วัดอ่างแก้ว ภาษีเจริญ ขึ้นมา ครั้นเมื่อหลวงปู่รอดได้ถึงแก่มรณภาพลง หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองวัดเป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอนสืบแทนต่อมาในระยะหนึ่ง
วิทยาคุณและคุณวิเศษของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) ที่จะบรรยายต่อไปนี้ คุณปู่ทรัพย์ ทองอู๋ ผู้ซึ่งเป็นบุตรของลูกพี่ลูกน้องของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) และเป็นบิดาของ คุณพ่อพูน ทองพูนกิจ ได้เล่าให้ทายาทฟังต่อๆ กันมา ซึ่งจะได้นำมาประมวลเข้าไว้ดังต่อไปนี้
การถอนคุณไสย์
ในการออกเดินธุดงค์คราวหนึ่งของหลวงปู่รอด ท่านได้ไปถึงชนบทแห่งหนึ่งแถวๆ ทุ่งสมรหนองขาว เขตติดต่อระหว่างกาญจนบุรีกับราชบุรี คืนวันหนึ่งขณะที่ท่านอยู่ในกลด มีพายุอื้ออึง มีเสียงต้นไม้ต่างๆ ดังลั่นและหักโค่นดังกึกก้องไปหมด ท่านจึงสมาธิเจริญพุทธาคม สงบนิ่งอยู่ พระที่ติดตามท่านเดินธุดงค์ได้ยินเสียงวัตถุหนักๆ ปลิวมาตกอยู่รอบบริเวณที่ปักกลด เสียงดังตุบ เช้าขึ้นพอเปิดกลดออกมา ก็เห็นท่อนกระดูกตกเรี่ยราดอยู่รอบบริเวณนั้น พอสักครู่หนึ่งก็มีชาวบ้านกระเหรี่ยง ๒-๓ คนเดินตรงเข้ามา บางคนก็ถือจอบและเสียมมาด้วย เมื่อได้สอบถามจึงได้ความว่าเขาเตรียมฝังศพพระธุดงค์ ซึ่งคาดว่าจะต้องถูกคุณไสย์มรณภาพเมื่อคืนนี้
ครั้นเมื่อเห็นว่าหลวงปู่รอด และพระผู้ติดตามยังปกติดีอยู่ พวกกระเหรี่ยงจึงพากันกลับไป แต่พอไม่ทันไรก็พากันมาอีก แต่ในตอนนี้นำเอาอาหารมาถวายด้วย หลวงปู่รอดบอกพระผู้ติดตามว่าอย่าได้ฉันอะไรเป็นอันขาด พอรับประเคนอาหารจากพวกกระเหรี่ยงแล้ว ท่านก็เรียกให้พระผู้ติดตามเอาหม้อกรองน้ำของพระธุดงค์มาให้ จากนั้นหลวงปู่รอดก็บริกรรมทำประสะน้ำมนต์พรมอาหารนั้น
ปรากฏว่าข้าวสุกที่อยู่ในกระด้งก็กลายเป็นหนามเล็กๆ เต็มไปหมด กับข้าวต่างๆ ในกะลามะพร้าวก็กลายเป็นกระดูกชิ้นน้อย หลวงปู่รอดเอามือกวาดกระดูกและหนามเหล่านั้นไว้ แล้วคืนภาชนะที่ใส่มาให้กับพวกนั้นไป พวกกระเหรี่ยงพยายามจะขอคืนไปท่านไม่ยอมให้ ตกกลางคืนหลวงปู่รอดบอกกับพระลูกศิษย์ว่า ท่านจะปล่อยของเหล่านี้กลับไปเล่นงานเจ้าพวกนี้บ้าง เพียงสั่งสอนให้รู้สึกสำนึกเท่านั้น พอรุ่งเช้าพวกกระเหรี่ยงก็รีบมาหาหลวงปู่รอดแต่เช้ามืด คราวนี้หามคนป่วยมาด้วยคนหนึ่ง กล่าวคำขอขมาและขอร้องให้ท่านว่าช่วยรักษา ลักษณะคนป่วยร่างกายบวมไปทั้งตัวเหมือนศพที่กำลังขึ้น หลวงปู่รอดหัวเราะแล้วถามว่าเป็นอะไรบ้าง คนป่วยได้แต่นอนอยู่ตลอดเวลา ได้แต่กรอกหน้าและยกมือขึ้นพนม หลวงปู่รอดจึงเอาน้ำมนต์ในหม้อกรองน้ำ (ลักจั่น) พรมลงไปตามร่างคนป่วย เพียงครู่เดียวนั้นเองร่างกายที่บวมก็ค่อยยุบเป็นอัศจรรย์ ทุกคนก็กราบหลวงปู่ด้วยความยำเกรง แล้วบอกว่าจะนำอาหารมาถวาย แต่ท่านบอกว่าจะถอนกลดแล้วเดินธุดงค์ต่อไป หลังจากได้ปักกลดอยู่ ๒ คืนแล้ว
การเดินบนใบบัว
เรื่องนี้เนื่องมาจาก การเดินธุดงค์ในสมัยที่ “หลวงปู่เอี่ยม” ยังเป็นสามเณร ได้เล่ากันต่อๆ มาว่า ในครั้งนั้นหลวงปู่รอดได้เดินธุดงค์โดยมี สามเณรเอี่ยม ร่วมทางไปด้วย ในระหว่างทางห้วยกระบอกหรือห้วยกลด เขตจังหวัดกาญจนบุรี พอมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง เห็นกลดของพระธุดงค์ร้างปักอยู่มาก เนื่องจากหนีสัตว์ป่าไปเสียข้างหน้า ภูมิประเทศโดยรอบเป็นภูเขาสูงชันมากยากแก่การปีนป่าย และมีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด ซ้ำยังมีบึงบัวใหญ่ขวางหน้าอยู่อีก ท่านจึงพิจารณาว่าจะต้องข้ามทางบึงบัวนี่แหละ จึงจะออกจากสถานที่นั้นได้ หลวงปู่รอดจึงบอกกับสามเณรเอี่ยมว่า เมื่อท่านเดินก้าวลงใบบัวในหนองน้ำนั้น ชึ่งเป็นพืดติดต่อกันไปถึงฝั่งตรงข้าม ให้สามเณรคอยก้าวตาม เหยียบทับรอยเท้าของท่านบนใบบัวแต่ละใบ อย่าให้พลาดโดยเด็ดขาด รอยไหน รอยนั้น
หลวงปู่รอดจึงบอกคาถาให้บริกรรมขณะที่จะก้าวเดิน แล้วท่านก็เจริญอาโปกสิณอยู่ครู่หนึ่ง ท่านก็ได้ก้าวเดินบนใบบัวที่กางใบสลอนทั่วบึงนั้น ทีละก้าว ส่วนสามเณรเอี่ยมก็ก้าวตามไปพร้อมด้วยบริกรรมคาถา ผ่านท้องน้ำอันเวิ้งว้างไปโดยตลอด ราวกับว่าใบบัวนั้นเป็นถาดไม้รองรับน้ำหนักตัวของหลวงปู่รอด และสามเณรเอี่ยมได้โดยไม่ยุบจมหายไปในน้ำนั้นเสีย เท้าต่อเท้า ก้าวต่อก้าว ไม่มีผิด ไม่มีพลาด อาจารย์ทิ้งรอยเท้าไว้ สามเณรเอี่ยมก็รีบสวมรอยเท้านั้นทันที จนในที่สุดสามเณรเอี่ยมเห็นว่า ใบบัวก้าวสุดท้ายของหลวงปู่รอดก่อนที่ท่านจะก้าวขึ้นฝั่งนั้น เป็นใบบัวที่เล็กมากและอยู่เกือบชิดตลิ่งแล้ว จึงไม่เหยียบตามหลวงปู่รอดไป จะสืบเท้าก้าวขึ้นฝั่งเลยทีเดียว แต่ไม่สำเร็จ เพราะใบบัวที่เท้าหลังเหยียบอยู่ยุบตัวลงเสียก่อน สามเณรเอี่ยมจึงตกลงไปในน้ำเสียงดังโครม ดีที่ว่าใกล้ตลิ่งมากแล้วจึงไม่ได้รับอันตรายมาก หลวงปู่รอดหันมาดู ได้แต่หัวเราะชอบใจเสียงดัง และกล่าวขึ้นว่า “บอกให้เดินตามทุกก้าวไป ก็ไม่ยอมเดิน ถ้าเป็นกลางบึงคงสนุกกันใหญ่ละ”
การสะกดจิต
คุณปู่ทรัพย์ ทองอู๋ บิดาของคุณพ่อพูน ทองพูนกิจ ได้เล่าเรื่องประหลาดกันต่อๆ มาว่า ได้มีคนร้ายขโมยเรือของหลวงปู่รอดที่จอดไว้ลำคูริมคลองขวางไป แต่ไม่สามารถจะพายไปได้ คงเวียนอยู่หน้าวัดโคนอนหน้ากุฎิของท่าน จนเช้าพระลูกวัดรูปหนึ่งจะเอาเรือออกบิณฑบาต ครั้นไม่เห็นเรืออยู่ แต่กลับเห็นชายแปลกหน้าคนนั้นกำลังพายเรือวนเวียนอยู่ จำได้ว่าเป็นเรือของหลวงปู่รอด จึงได้นำเรื่องไปเรียนให้ท่านทราบ
หลวงปู่รอดจึงลงมาที่ท่าน้ำ ขณะนั้นได้มีชาวบ้านใกล้เคียงมาดูกันอยู่เนืองแน่น ท่านจึงตะโกนบอกไปว่า “เจ้าจงเอาเรือมาคืนพระเสีย ท่านจะเอาไปบิณฑบาต” คนร้ายก็พายเรือมาจอดให้พระท่านแต่โดยดี แล้วท่านก็สั่งต่อไปว่า “ขึ้นมาบนกุฎิเสียก่อน” คนร้ายก็ขึ้นตามคำสั่ง ในที่สุดหลวงปู่รอดก็สั่งให้เด็กจัดเอาอาหารมาให้รับประทาน แล้วก็สั่งต่อไปอีกว่า “จะกลับบ้านก็กลับเถิด” คนร้ายจึงได้เดินลงจากกุฏิไป
.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
รูปภาพ
พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖
• กิตติคุณและคุณวิเศษ
พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖ ได้บันทึกถึงกิตติคุณของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
...พระภาวนาโกศลเถระ ท่านดำรงอยู่ในสมณคุณเป็นอย่างดีรูปหนึ่ง มีความมักน้อยในปัจจัยลาภ ได้มาก็บริจาคเป็นค่าซ่อม สร้างปูชนียสถาน เสนาสนะ และสิ่งอุปโภคแก่พระเณรบ้าง และเป็นเครื่องบูชาธรรมถวายพระที่นิมนต์มาเทศน์บ้าง ในกุฏิที่อยู่ของท่าน มองหาวัตถุมีค่าเป็นชิ้นเป็นอันมิใคร่พบ วาจาที่ออกจากปากของท่านเป็นโอวาทานุสาสนี มีสารประโยชน์แก่ผู้สดับ เป็นอุปัชฌาย์บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรมานาน แม้เมื่อทางการคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายให้จำกัดเขตอุปัชฌาย์ เวลาที่ท่านชราทุพลภาพแล้วก็ดี กุลบุตรผู้เลื่อมใสในท่าน แม้อยู่ในที่ไกลก็อุตส่าห์มาบรรพชาอุปสมบท ณ วัดหนัง ปีหนึ่งๆ มีปริมาณมาก อาศัยคุณสมบัติอาทิฉะนี้ ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของคฤหัสถ์และบรรพชิตเป็นอันมาก
อีกทั้งท่านยังเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวดคุณวิเศษใดๆ อย่างไรเสียเพชรก็ย่อมเป็นเพชรวันยังค่ำ กฤษดาภินิหารของท่านก็ปรากฏอยู่เนืองๆ เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมายาวนานกระทั่งปัจจุบัน เช่น เรื่องราวเล่าขาน “การปราบม้าพยศ” ของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริเสด็จประพาสยุโรป เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับนานาอารยประเทศ
ก่อนการเสด็จ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ถวายพระพร และแนะนำให้เสด็จฯ มาทรงอาราธนา พระปลัดเอี่ยม วัดโคนอน ผู้เชี่ยวชาญพระกัมมัฏฐานและพุทธาคม ให้ถวายคำพยากรณ์เกณฑ์พระชะตา ชันษา และมงคลพุทธาคม วัตถุคุ้มครองพระองค์
ดังนั้น พระองค์จึงเสด็จไปพบ หลวงปู่เอี่ยมได้ถวายพระพรและถวายคำทำนายว่า...การเสด็จไปในนานาประเทศอันไกลครั้งนี้ จะทรงบรรลุผลสำเร็จในพระบรมราโชบายทุกประการ แต่ในโอกาสที่ทรงประทับ ณ ประเทศหนึ่งนั้น จะมีผู้นำเอาสัตว์จตุบาท อันมีชาตินิสัยดุร้ายมาให้ทรงประทับขับขี่ แต่พระมหาบพิธราชสมภารเจ้าจะทรงปลอดภัยจากสัตว์พยศนั้น...หลวงปู่เอี่ยมจึงถวายพระคาถาเสกหญ้าให้แก่พระองค์ พร้อมทั้งวิธีการบริกรรม
เหตุการณ์ที่หลวงปู่เอี่ยมทำนายถวายก็เกิดขึ้น ขณะที่พระองค์ทรงประทับ ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้มี เจ้าชายพระองค์หนึ่ง เชิญเสด็จเพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาโปโล และการขี่ม้าพยศ ในระหว่างการแสดงขี่ม้าพยศนั้น ได้มีม้าตัวหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ ทั้งพยศดุร้าย ไม่มีผู้ใดสามารถบังคับขี่ได้ เจ้าชายฝรั่งเศลทูลถามพระองค์ว่า
ม้าพยศเช่นนี้ในเมืองของพระองค์มีหรือไม่ และหากมีผู้ใดสามารถบังคับได้หรือไม่ ?
พระองค์ทรงตรัสตอบว่า ก็พอมีอยู่บ้าง
และได้ทรงรำลึกถึงคำพยากรณ์และพุทธาคมที่หลวงปู่เอี่ยมถวายเอาไว้ ทรงเสด็จลงจากแท่นที่ประทับ ตรัสเรียกนายโคบาลให้นำม้าพยศนั้นมาใกล้ๆ ทอดพระเนตรพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ทรงย่อพระวรกายลงหยิบหญ้า ตั้งจิตอธิฐานบริกรรมภาวนาพระคาถา พลันยื่นหญ้ากำนั้นให้ม้าพยศกิน และทรงตรัสขอบังเหียน ไม่รอช้าทรงประทับยังม้าพยศตัวนั้น บังคับให้เดินย่างเยื้องไปมาเบื้องหน้าปะรำที่ประทับ สักครู่ จึงทรงบังคับให้ออกวิ่งอย่างเต็มฝีเท้า ชาวต่างชาติที่ร่วมเข้าชมการแสดงในวันนั้น ต่างโห่ร้องกึกก้อง ตกตะลึงในพระบารมีบุญญาธิการเป็นที่สุด
เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาสักการะหลวงปู่เอี่ยม ตรัสเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างแดน และทรงพระราชทานถวายของฝากต่างๆ จากต่างแดน
รูปภาพ
รูปหล่อพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) ณ วัดหนัง ราชวรวิหาร
• ลำดับสมณศักดิ์
ครั้นเมื่อหลวงปู่รอด เจ้าอาวาสวัดโคนอน ได้ถึงแก่มรณภาพลง หลวงปู่เอี่ยมท่านก็ได้ครองวัดสืบแทนต่อมาในระยะหนึ่ง ด้วยเหตุที่ท่านเป็นผู้ถวายคำพยากรณ์อันแม่นยำยิ่งนักแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) พระองค์จึงทรงเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่เอี่ยมเป็นอันมาก กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูศีลคุณธราจารย์ แล้วอาราธนามาอยู่วัดหนัง ราชวรวิหาร สาเหตุที่หลวงปู่เอี่ยมท่านได้ย้ายมาอยู่วัดหนัง ราชวรวิหาร ก็เนื่องมาจาก สมเด็จฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดหนัง ราชวรวิหาร แต่ทางวัดไม่มีจำนวนพระสงฆ์อันพึงรับผ้าพระกฐินได้ ต้องทรงเปลี่ยนเป็นพระราชทานผ้าป่าแทน ภาวะแห่งวัดทรุดโทรมถึงที่สุด เมื่อเสด็จกลับจึงกราบทูลภาวะแห่งวัดแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงให้กระทรวงธรรมการติดต่อทาง สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศน์ เพื่อหาตัวเจ้าอาวาสรูปใหม่ ประกอบกับ พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (ทอง) เจ้าอาวาสรูปก่อนก็อาพาธมีโรคประจำตัว สามวันดีสี่วันไข้ สิ้นความสามารถในการบริหารบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม สมเด็จพระวันรัตได้เลือก พระครูศีลคุณธราจารย์ (เอี่ยม สุวณฺณสโร) เจ้าอาวาสวัดโคนอน (ในขณะนั้น)
เมื่อหลวงปู่เอี่ยมได้มาครองวัดปีหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า หลวงปู่เอี่ยม หรือ “หลวงปู่เฒ่า” ท่านมีปีพรรษามากแล้ว กอปรด้วยศีลาจริยาวัตรอันงดงาม สมบูรณ์ไม่ด่างพร้อย หาตำหนิมิได้ กลับเป็นที่เคารพสักการะแด่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายโดยทั่วไป อีกทั้งก็ทรงเลื่อมใสศรัทธาในส่วนพระองค์เป็นกรณีพิเศษอีกด้วย ทรงมีพระราชดำริสมควรจะได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ “พระภาวนาโกศล” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เดียวกันกับหลวงปู่รอด พระอาจารย์ของท่านนั่นเอง และไม่ว่าจะกิจการงานใด พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความช่วยเหลือทุกกรณีไป
• ยุคแห่งการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างแท้จริง
วัดหนัง ราชวรวิหาร ในยุคของหลวงปู่เอี่ยม ถือเป็นยุคแห่งการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างแท้จริง ด้วยถาวรวัตถุและเสนาะสนะต่างๆ ได้ชำรุดทรุมโทรมถึงที่สุด จนแทบใช้การไม่ได้เกือบทั้งหมด หากจะนับระยะเวลาตั้งแต่การสถาปนาเสร็จสิ้น จัดงานเฉลิมฉลองสมโภชเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ ล่วงถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๑ รวมเป็นระยะเวลาถึงเกือบ ๖๐ ปี ย่อมถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะชำรุดทรุดโทรมไปตามกาล
ประกอบกับ พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (ทอง) เจ้าอาวาสรูปก่อนก็อาพาธมีโรคประจำตัว สามวันดีสี่วันไข้ สิ้นความสามารถในการบริหารบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิ จำนวน ๒,๔๐๐ บาท และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รื้อถอนหรือเพิ่มเติมได้ตามจะเห็นสมควร
เมื่อซ่อมแซมเสนาสนะหมู่กุฏิสงฆ์พอเป็นที่อาศัยใช้บ้างแล้ว ด้วยทุนทรัพย์ที่ชาวบ้านร่วมบริจาคก็เริ่มดำเนินการบูรณะซ่อมแซมศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นศาลาที่หลวงปู่รอด สร้างเอาไว้ครั้งยังจำพรรษาอยู่วัดนี้
การบูรณปฏิสังขรณ์นับเป็นภาระหน้าที่อันหนักที่หลวงปู่เอี่ยมท่านต้องรับผิดชอบ เพราะต้องใช้ทั้งกำลังศรัทธา กำลังแรงงาน และทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก รวมถึงต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี แต่ท่านก็สามารถดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกประการ ด้วยอาศัยทุนทรัพย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานช่วยเหลือเป็นระยะ ตลอดจนอาศัยแรงศรัทธาจากชาวบ้านพุทธบริษัทโดยทั่วไปทั้งทางด้านทุนทรัพย์และแรงกาย กำลังสำคัญที่่ช่วยแบ่งเบาภาระรับผิดชอบในการนี้ คือ พระครูสังวรยุตตินทรีย์ (คำ) ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นพระสมุห์และพระปลัดในฐานานุกรมของท่าน เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการช่าง
ถาวรวัตถุและเสนาสนะที่หลวงปู่เอี่ยมท่านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้น พอนำเสนอพอสังเขปดังนี้
พระอุโบสถ ซ่อมคานด้านบนในส่วนที่ชำรุด เปลี่ยนเต้าเชิงชายช่อฟ้าใบระกา เปลี่ยนกระจกประดับหน้าบันได แซมกระเบื้องมุงหลังคา ซ่อมเสาและผนังส่วนที่ผุกร่อน ปรับพื้นพระอุโบสถที่เป็นหลุมแอ่งให้ราบเรียบ และปูพื้นด้วยหินอ่อน, พระวิหาร ชำรุดเสียหายมากเพราะหลังคารั่วมาเป็นเวลานาน การบูรณะซ่อมแซมทำเกือบทั้งหมด และจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก ความทราบถึงพระกรรณ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ ๔,๘๐๐ บาท, ถาวรวัตถุอื่นๆ ที่ได้ทำการบูรณะซ่อมแซม คือ พระปรางค์, พระเจดีย์คู่หน้าพระวิหาร, พระเจดีย์สี่องค์ และศาลาซุ้มประตูกำแพงแก้ว เป็นต้น สำหรับเสนาสนะและอื่นๆ ที่ได้ทำการบูรณะซ่อมแซม คือ คณะเหนือ, หอไตร, ศาลาการเปรียญ, ศาลาฉนวนท่าน้ำ, สะพานฉนวน, ศาลาราย, เขื่อนหน้าวัด และโรงทึม ซึ่งเป็นอาคารที่ท่านสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นต้น
• ศิษยานุศิษย์บรรพชิต
เนื่องจากหลวงปู่เอี่ยมท่านเป็นพระเถระผู้ทรงคุณ รอบรู้ในพระปริยัติธรรม เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรืองด้วยพุทธาคม เกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก จึงมีศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะศิษย์ใกล้ชิดและเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของท่านในกิจการพระศาสนาด้านใดด้านหนึ่ง ดังนี้
พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖
พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๗ อุปสมบทโดยมีหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดมากที่สุดองค์หนึ่งและได้ศึกษาพุทธาคมต่างๆ จากหลวงปู่เอี่ยมโดยตรง เป็นกำลังสำคัญของหลวงปู่เอี่ยมและพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) ในการอบรมพระภิกษุสามเณรด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และการบูรณปฏิสังขรณ์พื้นฟูสภาพวัดจนเจริญรุ่งเรืองมาถึงทุกวันนี้
พระบริหารบรมธาตุ (ประเสริฐ ธมฺมธีโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดนางชี ภาษีเจริญ
อุปสมบทโดยมีหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูพรหมโชติวัฒน์ (บุญมี) อดีตเจ้าอาวาสวัดอ่างแก้ว ภาษีเจริญ
อุปสมบทโดยมีหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการชู ฉนฺทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ภาษีเจริญ
อุปสมบทโดยมีหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นพระอุปัชฌาย์
• ผู้มีศีลจริยวัตรอันงดงามแห่งวัดหนัง
หลวงปู่เอี่ยมเป็นพระเถระที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่ายและสมถะ มุ่งมั่นในการบูรณปฏิสังขรณ์พื้นฟูสภาพวัดที่ทรุดโทรมถึงที่สุด ให้กลับมาดีดั่งเดิมเหมือนเมื่อครั้งยุคของการสถาปนา กระนั้นภาระหน้าที่ด้านอื่นท่านก็ไม่ปล่อยละเลย ปฏิบัติควบคู่กันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านได้ปฏิบัติกิจวัตรเป็นประจำวันของท่านอย่างสม่ำเสมอเป็นปกติ เช่น การลงอุโบสถ แม้ฝนจะตกบ้างเล็กน้อยท่านก็เดินกางร่มไป ซึ่งกุฏิของท่านอยู่ห่างประมาณ ๕๐ เมตร ขณะนี้ได้รื้อปลูกใหม่เป็น หอภาวนานุสรณ์ ไว้ที่เดิม หลวงปู่เอี่ยมท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง) ทรงเลื่อมใสศรัทธาเป็นการส่วนพระองค์มากที่สุดองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้รับสั่งให้ขุนวินิจฉัยสังฆการีนิมนต์เข้าไปในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิเช่น วันฉัตรมงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น โดยคุณพ่อพูน ทองพูนกิจ เป็นไวยาวัจกร เมื่ออายุ ๑๔-๑๕ ปี ได้ติดตามเข้าไปในพระที่นั่งอมริทร์วินิจฉัย ถ้าหากเป็นพระราชพิธีในตอนเช้า หลวงปู่เอี่ยมจะต้องไปค้างแรมที่วัดพระเชตุพนฯ กับพระราชาคณะผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่ชอบพอกัน
ในการเดินทางไปสมัยนั้น ต้องไปด้วยเรือแจวของหลวงประจำวัด ถ้าไม่ค้างแรมก็จอดเรือขึ้นที่ตลาดท่าเตียน วัดโพธิ์ แล้วเดินไปพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรีใกล้หน่อย ถ้าไปค้างแรมต้องไปจอดเรือขึ้นที่ท่าราชวรดิษฐ์ ฝากทหารเรือให้ช่วยดูแลอีกทีหนึ่ง คงจะสงสัยว่า ไวยาวัจกรหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเด็กวัดนั้น จะแต่งกายติดตามหลวงปู่เอี่ยมเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อย่างไร ? คุณพ่อพูนเล่าให้ฟังว่า ต้องแต่งตัวแบบประเพณีนิยม นุ่งผ้าพื้นโจงกระเบน ใส่เสื้อราชประแตนกระดุม ๕ เม็ด หลวงปู่เอี่ยมท่านสั่งตัดและจัดหามาให้ใส่ ขณะเมื่อคุณพ่อพูนถึงแก่กรรม เสื้อตัวนี้ยังอยู่เพราะตัดด้วยผ้าของนอกอย่างดีในสมัยนั้น ยังมีเรื่องที่คุณพ่อพูนเล่าให้ฟังว่า ขุนวินิจฉัยสังฆการีเคารพและนับถือหลวงปู่เอี่ยมมาก ถ้าไม่มีราชการก็จะมากราบเยี่ยมเยียนถามไถ่ทุกข์สุข มาครั้งใดเมื่อกราบลากลับ หลวงปู่เอี่ยมจะให้ปัจจัยไปทุกครั้งๆ ละ ๑ บาท เพราะท่านขุนผู้นี้ชอบเล่นหวย ก.ข. มาทีไรขอหวยกับหลวงปู่เอี่ยมทุกที แต่ท่านได้แต่หัวเราะแล้วเฉยเสีย
• วัตถุมงคล
วัตถุมงคลของท่านทุกชนิดเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ไม่ว่าจะเป็นเป็นเหรียญเสมารุ่น ๑-๒ ซึ่งปัจจุบันเป็นเหรียญยอดนิยมอันดับ ๑ ของวงการ เครื่องรางของขลังประเภท หมากทุย จัดว่าเป็นหนึ่งใน เบญจภาคีเครื่องรางของขลัง พระบิดาเนื้อโลหะ ถือว่าเป็นสุดยอดของหายาก มากด้วยความนิยมเป็นอันดับหนึ่งไม่แพ้พระปิดตาวัดทอง ของหลวงพ่อทัพ เลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ยังจะมีวัตถุมงคลอีกหลายชนิดทั้งพระชัยวัฒน์ พระปิดตาเนื้อตะกั่ว พระปิดตาเนื้อผง และตะกรุด ล้วนเป็นที่นิยมต้องการของนักพระเครื่องอย่างไม่มีวันเลื่อมคลาย
• การมรณภาพ
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ได้ปกครองดูแลวัดหนัง ราชวรวิหาร อยู่นานถึง ๒๗ ปีเศษ จึงได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี พรรษา ๗๑ นับเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอายุยืนยาวถึง ๔ แผ่นดิน (รัชกาลที่ ๓ ถึง รัชกาลที่ ๖)
.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
รูปภาพ
ภาพถ่ายหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร อันล้ำค่า ซึ่งเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๕
ที่ทรงถ่ายไว้เมื่อคราวเสด็จมาทอดพระเนตรการบูรณะพระอุโบสถ วัดหนัง ราชวรวิหาร
พระปิดตา พระปิดทวาร “วัดหนัง” กรุงเทพฯ
“วัดโคนอน” ตั้งอยู่แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี อารามแห่งนี้ “หลวงปู่รอด” ผู้เป็นพระอาจารย์ผู้เลื่องชื่อในไสยเวทของ “พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)” มาครองอยู่นับแต่ถูกถอดสมณศักดิ์จาก “พระภาวนาโกศล” ให้เป็นพระธรรมดา และเมื่อท่านได้มรณภาพแล้ว หลวงปู่เอี่ยมซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิคนโปรดของท่าน ก็เป็นเจ้าอาวาส “วัดโคนอน” องค์ต่อมา โดยทั้งพระอาจารย์และศิษย์ต่างก็ได้สร้างวัตถุมงคลไว้ที่วัดนี้ในลักษณะที่คล้ายๆ กันด้วย
“วัดหนัง ราชวรวิหาร” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดหนัง” นี้เดิมเป็นวัดเก่าแก่มาแต่ครั้งสมัยอยุธยายุคปลาย ตั้งอยู่ในคลองด่านฝั่งเหนือ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี ต่อมาอารามแห่งนี้ได้ถูกรื้อถอน แล้วเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ก็ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เสียใหม่ แล้วยกให้เป็นพระอารามหลวง ตั้งแต่นั้นมา กระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ก็ได้โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง...ที่วัดหนังนี้เดิม “หลวงปู่รอด” ซึ่งเคยเป็นฐานานุกรมใน “พระนิโรธรังสี” เจ้าอาวาสวัดหนังองค์แรกมาก่อนแล้ว จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร และก็นี่เองหลวงปู่เอี่ยมซึ่งเคยเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโคนอน ก็ได้ย้ายมาที่วัดหนังนี้อีกครั้งจนถึงมรณภาพเช่นกัน
ที่ต้องนำ ประวัติของ “สองวัดและสองหลวงพ่อ” นี่ขึ้นมากล่าวไว้ก่อนเช่นนี้ ก็เพื่อชาวพระเครื่องชั้นหลังจะได้ไม่ต้องนั่งปวดหัว “เรื่องวัดกับพระเครื่อง” ซึ่งเดี๋ยวไปอยู่วัดโน้นและมาพบวัดนี้ ว่ากันให้วุ่นทั้งๆ ที่หลักฐานก็อ่อนเหลือเกิน สรุปแล้วถ้าพระเครื่องพิมพ์ใดผิดวัดไปบ้าง ก็ให้ถือเสียว่านั่นเป็นของแท้ที่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง หรือวัดโคนอน ท่านสร้างไว้โดยไม่ใช่ของพระอาจารย์อื่นก็แล้วกัน สำหรับผู้เขียนก็เชื่อว่า พระเครื่องเพียง ๒๕% เท่านั้น ที่หลวงปู่เอี่ยมสร้างเป็นประเดิมไว้ที่วัดโคนอน แต่อีก ๗๕% เชื่อว่าได้สร้างไว้ที่วัดหนังเสียส่วนมาก เพราะหลวงปู่เอี่ยมท่านครองวัดหนังอยู่ถึง ๒๗ ปี จึงมรณภาพ จึงมีเวลาเหลือเฟื่อสำหรับการสร้างพระพิมพ์เยี่ยมๆ และเหรียญซึ่งดังเกรียวกราวมากในขณะนี้ นับเป็นธรรมดาของผู้คงแก่เรียนซึ่งอิ่มในวิทยาคมขลัง ท่านมักจะนิยมสร้างวัตถุกันไส้ในบั้นปลายชีวิตเสียเป็นส่วนมากด้วย
ต่อไปนี้ขอนำท่านเข้าสู่ประวัติหลวงปู่แห่งวัดหนังโดยสังเขปต่อไปอีกครั้ง
“หลวงปู่เอี่ยม” หรือ “หลวงปู่เฒ่า” หรือ “เจ้าคุณเฒ่า” หรือ “พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)” ท่านเป็นชาวบางขุนเทียนมาแต่กำเนิด ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ (ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓) เป็นบุตรของนายทองและนางอู่ ทองอู๋ เมื่อถึง พ.ศ. ๒๓๘๗ โยมทั้งสองได้นำท่านไปฝากเรียนอยู่ที่สำนักวัดหนัง จนถึง พ.ศ. ๒๓๙๗ ท่านจึงทำการอุปสมบท ณ วัดราชโอรส ท่านเคร่งและศึกษาด้านพระปริยัติธรรมมาก และชั่วระยะหนึ่งท่านก็ย้ายไปอยู่ที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับ “หลวงปู่รอด” ซึ่งกำลังเลื่องชื่อมากในด้านวิทยาอาคมขลัง หลวงปู่เอี่ยมได้หันมาสนใจในด้านไสยเวท จนถึงขนาดได้เป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์รักมาก ครั้นต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ “หลวงปู่รอด” ได้ถูกถอดจากสมณศักดิ์เดิมให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดาๆ หลวงปู่รอดจึงได้ย้ายอารามไปครองอยู่ที่วัดโคนอน โดยมีเจ้าคุณเฒ่าตามไปรับใช้อยู่ที่วัดโคนอนด้วย ต่อมาไม่นานนักหลวงปู่รอดได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทนพระอาจารย์ต่อไป
เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงปู่เอี่ยม” ไปครอง “วัดหนัง” ต่อไป และรุ่งขึ้นอีก ๑ ปี องค์สมเด็จพระปิยะมหาราชก็ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ “พระภาวนาโกศล” ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง ท่านได้ครองวัดหนังอยู่ถึง ๒๗ ปีเศษ จึงถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ รวมอายุได้ ๙๔ ปี
พระปิดทวาร “ยันต์ยุ่ง” และ “พิมพ์ประกบ” ของหลวงปู่เอี่ยม ประมาณว่าได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ “วัดหนัง” นั่นเอง สำหรับพระปิดตาเนื้อไม้ เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อโลหะต่างๆ แบบหน้าเดียว และพระกริ่ง รวมทั้งเนื้อผงบางชนิด ก็ได้มีสร้างมาก่อนที่วัดโดนอนแล้ว เมื่่อมาอยู่วัดหนัง หลวงปู่เอี่ยมท่านได้นำมาสร้างและแก้ไขใหม่อีกครั้ง เรื่องราวของพระปิดทวารยันต์ยุ่งนี้ นับเป็นการสร้างที่ต้องใช้ความประณีตแบบพระวัดทองของหลวงพ่อทับ (สร้างองค์ต่อองค์) มีลักษณะที่คล้ายกันก็จริง แต่ขนาดจะไม่เท่ากัน มีสร้างไว้ทั้งชนิดเนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน และเนื้อโลหะแก่ทอง (ที่ทำเป็นเนื้อผงสีน้ำตาลก็มี แต่หาชมได้ยากมาก) พระวัดหนังยันต์ยุ่งของวัดหนังเป็นพระปิดทวารที่อลังการไปอีกแบบหนึ่ง โดยองค์จะบางกว่าพระวัดทอง
ขณะนี้ “พระปิดทวารยันต์ยุ่ง” ของวัดหนังซึ่งหาชมหรือมาเช่าได้ยากที่สุดนั้น ได้มีการทำปลอมกันไว้มาก ควรระวังไว้ด้วย สำหรับพุทธคุณของพระปิดทวารพิมพ์ยันต์ยุ่งนี้ ก็ไม่ผิดไปกว่าพระแร่บางไผ่ หรือพระปิดทวารวัดทองเลย นั่นก็คือเยี่ยมด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และดีทางมหาอุตม์ด้วย
ดังได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องพระปิดทวาร “ยันต์ยุ่ง” ว่าพระ “ภควัมบดี” ที่หลวงปู่เอี่ยมสร้างไว้มีมากพิมพ์ ประมาณจำนวนกันไม่ได้ แต่ก็เชื่อกันว่าพระเพียง ๒๕% เท่านั้นที่ท่านอาจสร้างไว้เป็นครั้งแรกที่ “วัดโคนอน” สำหรับอีก ๗๕% เข้าใจว่าใครสร้างที่ “วัดหนัง” เป็นส่วนใหญ่...“หลวงปู่เอี่ยม” แห่งวัดหนังองค์นี้ นับเป็นผู้เรืองวิทยาคมในระดับเดียวกับหลวงปู่รอด ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านทีเดียว
กล่าวกันว่า เมื่อท่านมาอยู่วัดหนังได้ระยะหนึ่ง คือประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๘ ท่านก็เริ่มสร้างพระเนื้อไม้แกะ และพระปิดตาฐานบัว ที่เคยสร้างไว้ที่วัดโคนอนต่อไปอีก สลับด้วยพระกริ่ง พระอุดก้นด้วยชันโรง พระปิดทวารยันต์ยุ่ง พระปิดทวารนะหัวเข่า พระปิดทวารหัวบานเย็น พระปิดตาหมากทุย พระปิดทวารพิมพ์ประกบ พระปิดตาพิมพ์ข้าวตอกแตก พระตาพิมพ์สังฆาฏิ และพระปิดตาปิดทวารพิมพ์เล็กจิ๋วอีกหลายแบบ รวมทั้งเป็นองค์พระ (ไม่ใช่พระปิดตา) ที่ประมาณพิมพ์ไม่ได้อีกด้วย หลวงปู่เอี่ยมได้สร้างพระแบบ “องค์ภควัมบดี” ดังกล่าว เป็นลำดับไปด้วยเนื้อไม้ เนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน (พิมพ์ยันต์ยุ่งและพิมพ์ประกบ นิยมกันมากและแพง) เนื้อสัมฤทธิ์แก่ทอง เนื้อชินเงิน เนื้อตะกั่วผสมชิน เนื้อเมฆพัด (มีน้อย) เนื้อผงสีต่างๆ เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อผงใบลานเผาก็มีสร้างไว้
สรุปจากพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ที่หลวงปู่เอี่ยมได้สร้างไว้ ปัจจุบันจะหาชมได้เพียงบางพิมพ์เท่านั้น และขณะนี้ก็นับว่าได้สนนราคาเช่ากันสูงพอสมควรทีเดียว (พระปิดตา “ข้าวตอกแตก” เล็กจิ๋ว กับพระปิดทวารเล็กจิ๋วเนื้อดิน เป็นพระที่นิยมกันมาก) เรื่องราวจากพระปิดตาและปิดทวารของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ยังคงมีปรากฏพิมพ์แปลกตาผ่านสนามพระเข้ามาอยู่เสมอ (จากรังเก่าเก็บบางบ้าน) จึงเป็นเรื่องไม่ยุติสำหรับพระของหลวงปู่เอี่ยมเพราะยังมีของดีซ่อนเร้นอยู่อีกมากที่เรายังจะต้องศึกษาต่อไปอีก...
แน่นอนเหลือเกินที่พระปิดตาและปิดทวารฯ ดังได้กล่าวไปแล้วนี้ พุทธคุณท่านมีดีครบ ๓ ประการเช่นพระเครื่องทั้งหลาย และยังเป็นพระที่ให้โชคให้ลาภอีกทางหนึ่งด้วย
.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
บทความในตอนนี้ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ในพระราชหัตถเลขา หรือพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องเล่าสืบทอดกันมาจากบรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ และปู่ย่าตาทวดละแวก วัดโคนอน เขตภาษีเจริญ ที่ได้รู้ได้เห็นได้ประสบเหตุการณ์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เข้าถวายนมัสการ “หลวงปู่เอี่ยม” เจ้าอาวาสวัดโคนอน ในสมัยนั้น เพื่อขอรับการพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าในการเสด็จประพาสยุโรป จริงเท็จประการใด เชื่อได้หรือไม่ ? ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้อ่านทั้งหลาย
ขอเริ่มเรื่องที่ “หลวงปู่เอี่ยม วัดโคนอน” หรือ “เจ้าคุณเฒ่า วัดหนัง” ที่หลายท่านโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องรู้จักกันดี เหรียญรูปเหมือนของท่านทั้ง ๒ รุ่นที่ทันท่านปลุกเสก ค่านิยมในการบูชาอยู่ในหลักแสนมานานนับสิบปีแล้ว เหตุที่มีชื่อเรียกอีกนามหนึ่งนั้น เพราะภายหลังท่านได้มาปกครองวัดหนัง ราชวรวิหาร ภาษีเจริญ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระภาวนาโกศล” ก็คงจะเป็นด้วยคุณงามความดีของท่านที่ถวายคำพยากรณ์ โดยที่ผลของคำพยากรณ์ออกมาเป็นจริง ทำให้ไทยเราไม่ต้องสูญเสียองค์พระปิยมหาราชเจ้า ในขณะที่เสด็จรอนแรมอยู่กลางทะเลมหาสมุทร และแผนอันชั่วร้ายของ “เศษฝรั่ง” ที่คิดปลงพระชนม์ชีพพระองค์อย่างแยบยลชนิดที่ชาวโลกไม่กล้าตำหนิ
หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
“หลวงปู่เอี่ยม” นั้นท่านเป็นศิษย์เอกของ “พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด)” อดีตเจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี พระวิปัสสนาจารย์ที่เก่งกล้าในด้านพุทธาคม มีตบะเดชะที่กล้าแข็ง สำเร็จวิชา ๘ ประการ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่วงรู้จิตใจคน รู้อดีต รู้อนาคต แสดงฤทธิ์ได้ ฯลฯ หลวงปู่รอดนี้ต่อมาภายหลังท่านได้ถูกฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักรลงโทษด้วยการปลดออกจากตำแหน่ง ริบสมณศักดิ์คืนเพราะท่านไม่ยอมถวายอดิเรกแด่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ในคราวเสด็จถวายผ้าพระกฐิน อาจจะเป็นเพราะความคิดที่ไม่เห็นด้วยในการที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้นมา ทำให้สงฆ์ต้องแตกแยกกันนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ใดไม่เห็นด้วย ก็ไม่ควรเป็น “พระราชาคณะ” อีกต่อไป เพราะคำว่า “พระราชาคณะ” นั้น แปลว่า “พวกของพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระราชา”
เมื่อหลวงปู่รอดถูกถอดจากสมณศักดิ์แล้ว ก็ออกจากวัดนางนอง วรวิหาร กลับไปยังวัดบ้านเกิดที่ห่างไกลจากความเจริญ คือ “วัดโคนอน” ด้วยความกตัญญูรู้คุณแด่องค์พระอาจารย์ หลวงปู่เอี่ยมซึ่งขณะนั้นเป็นเพียง “พระปลัดเอี่ยม” ก็อ้อนวอนขอติดตามองค์พระอาจารย์ไปปรนนิบัติรับใช้ ท่านไปไหนก็ไปด้วย เรียกว่าเห็นใจในยามทุกข์ ก็คงจะไม่ผิด แสดงให้เห็นถึงความไม่ยึดติดในลาภสักการะ ถิ่นที่อยู่ที่เจริญด้วยอาหารบิณฑบาตและปัจจัยในองค์หลวงปู่เอี่ยม นอกเหนือไปจากความกตัญญูกตเวที ที่ปรนนิบัติรับใช้องค์พระอาจารย์จวบจนวาระสุดท้าย
หลวงปู่เอี่ยมนั้นเป็น “ศิษย์มีครู” ดังนั้น จึงถอดแบบอย่างมาจากองค์หลวงปู่รอดแทบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน หลวงปู่รอดเก่งอย่างไร หลวงปู่อี่ยมก็เก่งอย่างนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ท่านจะมีศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือมากมาย ทั้งที่วัดอยู่ในถิ่นห่างไกลความเจริญ การเดินทางไปมาหาสู่ไม่สะดวก แม้แต่ “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์” เจ้ากรมพระนครบาล (กระทรวงมหาดไทย ในปัจจุบัน) ยังน้อมตัวเป็นศิษย์ และท่านผู้นี้แหละ ที่ถวายคำแนะนำและทูลเชิญเสด็จล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ให้เสด็จมาขอรับคำพยากรณ์จากหลวงปู่เอี่ยมก่อนที่จะเสด็จประพาสยุโรป
ในการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) นั้น ไม่ได้เป็นการเสด็จเพื่อแสวงหาความสำราญแต่อย่างใด แต่เป็นการเสด็จเพื่อดำเนินพระราชวิเทโศบายด้านการต่างประเทศอย่างชาญฉลาด เป็นการเสด็จเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับราชวงศ์ต่างๆ ของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซียและเยอรมัน ซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นของอังกฤษและฝรั่งเศส ด้วยหลักการที่ว่า “ศัตรูของเพื่อนก็คือศัตรูของเรา” เมื่อผูกสัมพันธ์กับรัสเซีย เยอรมัน และกลุ่มประเทศต่างๆ ในยุโรป ได้แล้ว อังกฤษและฝรั่งเศสก็จะไม่กล้ารุกราน หรือยึดเอาประเทศไทยเป็น “อาณานิคม” อีกต่อไป ซึ่งส่งผลทำให้ไทยเราดำรงความเป็นเอกราชมาจนทุกวันนี้
การเสด็จประพาสยุโรปในสมัยนั้น ทำได้ทางเดียว คือ “ทางเรือ” ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางแรมเดือน การออกทะเลหรือมหาสมุทรนั้น แม้ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาการเดินเรือ มีเรือที่มั่นคงแข็งแรง ประสิทธิภาพสูง มีการติดต่อสื่อสารที่ทันท่วงที ก็ยังไม่วายจะ “อับปาง” เลย หากออกเดินทางในช่วงมรสุม หรือ “สุ่มสี่สุ่มห้า” ล่ะก็ เป็นเสร็จทุกราย คนโบราณจึงสอนเอาไว้ว่า “อย่าไว้ใจทะเล คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล มีภยันตรายรอบด้าน ทุกเวลานาที” ขอท่านผู้อ่านทั้งหลายลองหลับตาวาดภาพการเดินเรือในสมัยเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้วซิว่า ยากลำบาก และมีอันตรายเพียงใด แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ พระองค์ท่านก็ทรงเสด็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย เป็นการเสียสละพระองค์อย่างสูงสุด ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกจะทำได้ ตอนหน้าจะได้กล่าวถึงคำพยากรณ์ และการแก้ไขเหตุร้ายแรงที่ประสบตามคำพยากรณ์ เป็นเรื่องของความเชื่อถือในคุณพระและคาถาอาคม หากท่านเห็นว่า “ไม่ไร้สาระ” จนเกินไป
เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ได้รับคำแนะนำจาก “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์” ให้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เข้าถวายนมัสการ “หลวงปู่เอี่ยม” วัดโคนอน เพื่อขอรับคำพยากรณ์ก่อนที่จะเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น ภายหลังที่กำหนดการเสด็จวัดโคนอนได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ส่งหมายกำหนดการไปถวายแด่หลวงปู่เอี่ยมเป็นการภายใน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับเสด็จ ขบวนเสด็จประกอบด้วยเรือพายสี่แจวที่ทรงประทับ และขบวนเรือคุ้มกัน ควบคุมโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ ได้เคลื่อนที่เข้าคลองลัดสู่วัดโคนอน ชาวบ้านละแวกนั้นไม่ได้ไหวตัวหรือเอะใจแต่อย่างใด เพราะเห็นเป็นขบวนเรือธรรมดา มิได้ประดับประดาธงทิวให้แปลกไปกว่าเรือลำอื่น ดูเหมือนกับเรือที่ขุนนางหรือเศรษฐีผู้มีทรัพย์ใช้กันทั่วไป และผู้ที่ขึ้นมาจากเรือสี่แจวต่างก็แต่งกายแบบธรรมดา มีหมวกสวมไว้บนศีรษะ ใบหน้าบ่งบอกถึงเป็นผู้มีบุญ หนวดบอกถึงผู้มีอำนาจ ดวงตาฉายแววแห่งความเมตตาปราณีตลอดเวลา เวลาเดินมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง ทุกคนไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า “บุรุษผู้ขึ้นมาจากเรือสี่แจวนั้น คือ เจ้าชีวิตแห่งกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ผู้ทรงประกาศเลิกทาสโดยสิ้นเชิง”
พระปลัดเอี่ยมนั่งรออยู่บนอาสนะอันสมควรแก่ฐานานุรูป ภายในอุโบสถอันแคบแบบวัดราษฏร์ ในเขตอันไกลจากพระบรมมหาราชวัง กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ก้าวนำเสด็จเข้ามาภายใน พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงจุดธูปเทียนบูชาสักการะพระประธาน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงเสด็จกลับมาถวายนมัสการ พระปลัดเอี่ยม ซึ่งกราบทูลให้ทรงประทับนั่งธรรมดาตามสบายพระองค์
“ที่รูปมาในวันนี้ (“รูป” เป็นคำที่พระมหากษัตริย์สมัยก่อนใช้แทนพระนามเมื่อมีพระราชดำรัสกับพระสงฆ์) เพื่อขอให้ท่านปลัดได้ช่วยตรวจดูเหตุการณ์ว่า การที่รูปจะเสด็จไปยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักในยุโรปนั้น จักเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยหนทางไกลและอันตรายมีอยู่รอบด้าน”
“มหาบพิตร อาตมาจักตรวจสอบให้ อย่าได้ทรงมีพระหทัยกังวล ทั้งนี้ด้วยพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพแบบพระองค์นั้น มีบุญญาธิการ สามารถผ่านพ้นความทุกข์ได้อย่างมั่นคง”
พระปลัดเอี่ยมลุกจากที่นั่งไปคุกเข่าลงหน้าพระประธาน ก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ระลึกถึงองค์พระรัตนตรัย และหลวงปู่รอด พระอาจารย์ของท่านผู้มรณภาพไปแล้ว ขอบารมีในการจะเข้า “ฌาน” เพื่อดูอนาคตด้วย “อนาคตังสญาณ” จากนั้นก็กลับเข้ามาสู่ท่านั่งสมาธิตัวตรง เจริญอานาปานสติ แล้วเข้าสู่ฌานที่ ๔ ตามลำดับ จากนั้นเข้าสู่อนาคตังสญาณ โดยกำหนดจิตไว้มั่นเพื่อให้นิมิตเกิด
ในท่ามกลางความคะนองของท้องทะเล และคลื่นลม ตลอดจนวังวนของทะเล เรือพระที่นั่งกำลังอยู่ในปากแห่งวังวนนั้น น้ำในวังวนเชี่ยวกราก และส่งแรงดูดมหาศาล ภายใต้วังวนนั้นซากเรือใหญ่น้อยจมอยู่เป็นอันมาก พ้นจากทะเลมาสู่บก พลันภาพของกลุ่มคนที่นั่งกันอยู่เป็นชั้นๆ ส่งเสียงจ้อกแจัก ด้านล่างเป็นผืนหญ้า และมีผู้จูงม้าเข้ามาในที่นั้น ม้าตัวนั้นมีคนถือเชือกที่ล่ามขาทั้งสี่ คอยดึงไว้ไม่ให้พยศ ดวงตาของมันเหลือกโปน น้ำลายฟูมปาก ภาพของฝรั่งแต่งตัวด้วยเครื่องแบบประหลาด ผายมือให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงเสด็จไปรับม้าเพื่อประทับ แล้วทุกอย่างก็ดับวูบหายไป ถึงวาระที่ออกจากญาณพอดี พระปลัดเอี่ยมลุกขึ้นเดินมานั่งบนอาสนะที่เดิม ก่อนจะกราบทูลความถวายว่า
“มหาบพิตร การเสด็จพระราชดำเนินสู่ยุโรปครั้งนี้ จะต้องประสบภัย ๒ ครั้ง ครั้งแรกในทะเลที่วังวน อาตมาจะถวายผ้ายันต์พิเศษและคาถากำกับ เมื่อเข้าที่คับขันขอให้ทรงเสด็จไปยืนที่หัวเรือ แล้วภาวนาคาถากำกับผ้ายันต์แล้วโบกผ้านั้น จะเกิดลมมหาวาตะพัดให้เรือหลุดจากการเข้าสู่วังวนได้
ภัยครั้งที่สองเกิดจากสัตว์จตุบาท (สี่เท้า) คืออัศดรชาติอันดุร้ายที่ฝ่ายตรงข้ามจะทดสอบพระบารมีของพระองค์ อาตมาจะถวายคาถาพิเศษสำหรับภาวนาเวลาถอนหญ้าให้อัศดรอันดุร้ายนั้นกิน จะคลายพยศและสามารถประทับบังคับให้ทำตามพระราชหฤทัยได้เหมือนม้าเชื่อง”
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เล่าลือกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง ปู่ย่าตายายได้เล่าสืบทอดกันมา อันมีส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต
คาถาเสกหญ้าให้ม้ากินที่หลวงปู่เอี่ยมถวายนั้น คือ “คาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย” หรือ “มงกุฎพระพุทธเจ้า” มีตัวคาถาว่า “อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตังพุทธะปิติอิ”
หลังจากได้ทรงมีพระราชดำรัสกับพระปลัดเอี่ยมพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทรงถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่พระปลัดเอี่ยม จากนั้นได้เสด็จทอดพระเนตรโดยรอบวัดโคนอน ซึ่งตอนนี้มีผู้จดจำพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าได้แม่นยำ ได้บอกกันออกไป ทำให้มีผู้มาหมอบเฝ้ารับเสด็จกันเป็นจำนวนพอสมควร ครั้นทรงสำราญพระอิริยาบถพอสมควรแล้ว ก็เสด็จกลับสู่พระบรมมหาราชวังเพื่อเตรียมพระองค์ไปทวีปยุโรปต่อไป
การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) ได้ทรงเตรียมการทุกอย่างไว้เป็นอย่างดียิ่ง ในส่วนที่เป็นกิจการภายในประเทศ ได้ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อหน้ามหาสมาคม จากนั้นได้ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้ามหาสมาคมซึ่งประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าเสนามหาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพระราชาคณะ อันมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภู กรุงเทพฯ มีใจความสำคัญ ดังนี้
๑. จักไม่เปลี่ยนแปลงจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาอื่น
๒. จักเสวยน้ำจัณฑ์ (เหล้า) ต่อเมื่อไม่เป็นการผิดพระราชประเพณีต่อฝ่ายที่จะกระชับสัมพันธไมตรี และจะเสวยเพียงเพื่อไมตรีไม่ให้เสียพระเกียรติยศ
๓. จะไม่ล่วงประเวณีต่อสตรีไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ตลอดเวลาที่พ้นออกไปจากพระราชอาณาเขตสยาม
ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความสำราญส่วนพระองค์ แต่ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประเทศชาติโดยแท้ จากจดหมายเหตุและพระราชหัตถเลขา ที่ทรงมีมายังพระพันปีหลวง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงบอกชัดเจนว่า
ทรงต้องผจญภัยในท้องทะเล กับคลื่นลมที่แปรปรวน ทรงพบกับความลำบากนานาประการ อาทิ ต้องทรงงดเสวยพระโอสถหมาก และพระโอสถมวน (หมาก พลู บุหรี่) และต้องให้ช่างมาขูดคราบพระทนต์ (ฟัน) ที่เกิดจากคราบหมากคราบปูนออกเพื่อให้พระทนต์ขาว ห้องพระบรรทมในเรือพระที่นั่งก็ไม่สะดวกสบาย อากาศร้อนเป็นที่สุด การเสวยก็ไม่เป็นไปตามที่ทรงพระประสงค์ ฯลฯ ซึ่งความยากลำบากเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาแรมเดือน ในช่วงที่ต้องใช้ทะเลมหาสมุทรเป็นเส้นทางเสด็จ และในช่วงที่เสด็จรอนแรมในท้องทะเลนั่นเอง คำพยากรณ์ข้อที่ ๑ ของหลวงปู่เอี่ยม วัดโคนอน ก็เป็นจริง
เมื่อเรือพระที่นั่งแล่นอยู่ในบริเวณใกล้กับสะดือทะเล หรือ “ซากัสโซ ซี” อันบริเวณนั้นมักจะเกิดน้ำวนเป็นประจำ และเรือลำใดบังเอิญหลงเข้าไปในวังน้ำวนนั้น ก็มีหวังจมลงอับปางเป็นแน่แท้ และแล้วเรือพระที่นั่งมหาจักรี ก็พลัดเข้าไปในวังวนนั้นจนได้ กัปตันคัมมิง (Commander Cumming) แห่งราชนาวีอังกฤษ ซึ่งไทยได้ขอยืมตัวมาเป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเป็นการชั่วคราว ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มสติกำลังความสามารถบังคับเรือให้สู้กับแรงหมุนและดูดอย่างเต็มที่ ด้วยหากเรือพระที่นั่งเข้าปากวังวนแล้ว การรอดออกมานั้นหมดหนทาง
ในขณะที่วิกฤตินั้น ได้มีผู้เข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อระลึกถึงคำพยากรณ์ของพระปลัดเอี่ยมข้อแรกขึ้นมาได้ ก็ทรงจัดฉลองพระองค์ให้รัดกุม อาราธนาผ้ายันต์ของพระปลัดเอี่ยมติดมาด้วย เมื่อเสด็จมาถึงตอนหัวเรือ กัปตันกำลังแก้ไขสถานการณ์สุดกำลัง ทรงไม่รบกวนสมาธิของกัปตัน แต่เสด็จไปยืนอธิษฐานจิตถึงพระรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช และบารมีทศพิธราชธรรม และการเลิกทาสที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะในการช่วยเหลือพสกนิกรให้พ้นจากการเป็นทาส จบลงด้วยพระปลัดเอี่ยม และผ้ายันต์ ทรงโบกผ้ายันต์นั้นไปมาด้วยความมั่นพระราชหฤทัย แล้วปาฏิหาริย์ก็ปรากฏ เหตุการณ์ก็แปรเปลี่ยน จู่ๆ ก็เกิดลมมหาวาตะพัดมาในทิศทางที่อยู่ในแนวเดียวกับวังวน แรงลมทำให้เกิดกระแสคลื่นสะกัดกระแสวนของวังน้ำ ดันเรือพระที่นั่งให้พ้นจากแรงดูด สามารถตั้งเข็มเข้าสู่เส้นทางได้ ท่ามกลางเสียงร้องตะโกนว่า “ฮูเรย์” ของกัปตันและลูกเรือ
ส่วนผู้ติดตามเสด็จนั้นอ้าปากค้างทำอะไรไม่ถูก จนทรงพับผ้ายันต์เก็บแล้วนั่นแหละ จึงค่อยๆ ร้องว่า สาธุ สาธุ คำพยากรณ์ข้อแรกเป็นที่ประจักษ์แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ว่า “แม่นยำยิ่งนัก” คงเหลือแต่คำพยากรณ์ข้อที่สองซึ่งยังมาไม่ถึง แต่ก็ทรงเตรียมพระองค์รับสถานการณ์หากจะเกิดขึ้น
เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น มีช่วงที่รอนแรมในมหาสมุทรอินเดียยาวนานถึง ๑๕ วัน ๑๕ คืน คือเส้นทางระหว่างเมืองกอล (Galle) ประเทศศรีลังกา ไปยังเมืองเอเดน (Aden) เมืองท่าปากทางเข้าสู่ทะเลแดงของประเทศเยเมน ช่วงนี้แหละที่น่าจะเป็นช่วงอันตรายที่สุดและลำบากที่สุด เหตุการณ์ตามคำพยากรณ์ข้อที่ ๑ ข้างต้นคงเกิดในช่วงเส้นทางนี้ คือระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน ถึง ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ (ขอย้ำอีกครั้งเป็นเรื่องเล่า ไม่ได้มีบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา - เล็ก พลูโต จากเว็บไซต์ lekpluto.com)
ขอรวบรัดตัดตอนเส้นทางการเสด็จประพาสยุโรป ไม่ขอนำความมากล่าวโดยละเอียด ณ ที่นี้ เมื่อพระองค์เสด็จถึงประเทศฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเฟลิกซ์ ฟอร์ ได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ แม้จะไม่เต็มใจนัก แต่แรกไม่คิดจะต้อนรับขับสู้อย่างดีหรอก แต่สืบข่าวดูแล้ว ทุกประเทศที่พระองค์เสด็จผ่านมาก่อนหน้าที่จะเข้าฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย ฮังการี รัสเซีย เดนมาร์ก อังกฤษ เบลเยี่ยม เยอรมัน ต่างก็ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยเฉพาะรัสเซีย พระเจ้าซาร์ นิโคลัส ทรงยกย่องนับถือเสมือนหนึ่งพระอนุชาร่วมอุทรของพระองค์เอง มีการฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์คู่กันเผยแพร่ไปทั่วยุโรป แล้วอย่างนี้ “เจ้าเศษฝรั่ง” จะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนได้อย่างไร
ในช่วงที่ทรงพำนักในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑ กันยายน ถึง ๑๗ กันยายน ๒๔๔๐ นี่เอง ที่พระองค์ได้ประสบกับความแม่นยำในอนาคตังสญาณของพระปลัดเอี่ยม ข้อที่ ๒ หากไม่ได้เตรียมการ หรือเตรียมพระองค์ล่วงหน้าแล้ว มีหวังที่จะต้องเอาพระชนม์ชีพไปทิ้งเสียที่นี่กระมัง
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)
โบราณว่าไว้ “หากไม่เข้าถ้ำเสือ แล้วจะได้ลูกเสืออย่างไร ?” เป็นบทท้าทายคำพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดตอนที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ องค์พระปิยมหาราชเจ้าเสด็จพระราชดำเนินเหยียบดินแดนของผู้ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นศัตรูที่ร้ายกาจ หวังจะครอบครองแผ่นดินไทยให้ได้ทั้งหมด แม้จะได้เป็นบางส่วนแล้วก็ตาม ก็หาเป็นที่พอใจไม่
ในช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) นั้น สยามประเทศของเรายังคงมีกรณีพิพาทต่อกันในเรื่อง “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” กล่าวคือ เราต้องยอมให้อังกฤษและฝรั่งเศสตั้งศาลกงสุลของตนในดินแดนไทย สำหรับตัดสินคดีความต่างๆ เมื่อคนของเขา หรือคนใดก็ตามแม้แต่คนไทยหัวใสบางคนที่ยอมตนจดทะเบียนเป็นคนในบังคับ (คล้ายๆ กับการโอนสัญชาติ แต่ไม่ใช่ เพราะยังไม่มีสิทธิที่จะพำนักในประเทศของเขา) ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อย เพราะเวลาทำผิดแล้วไม่ต้องขึ้นศาลไทย ไม่ใช้กฎหมายไทยตัดสิน คนไทยเองก็เถอะ หากทำความผิดต่อคนของเขาแล้ว ต้องขึ้นศาลเขาและต้องยอมเขาทุกอย่าง แม้ศาลไทยจะตัดสินว่า “ถูก” หากเขาเห็นว่า “ผิด” คนผู้นั้นก็ต้องถูกลงอาญา ซึ่งเป็นหนามยอกอกของคนไทยในสมัยนั้นมาก ต้องยอมให้คนต่างชาติต่างแดนมากดหัวเรา มาเอาเปรียบเรา เป็นการยั่วยุให้เราหมดความอดทน หากก่อสงครามก็มีหวังสูญเสียเอกราชของชาติแน่นอน
กรณี “พระยอดเมืองขวาง” แขวงเมืองคำเกิดคำมวน วีรบุรุษไทยที่รักผืนแผ่นดินไทย รักในองค์พระมหากษัตริย์ไทย ได้ดับความอหังการ์ของทหารฝรั่งเศส ที่บุกรุกอธิปไตยของไทยที่เมืองขวาง จนต้องถูกจำคุกเสียหลายปี แม้ศาลไทยจะให้ปล่อยตัวเพราะเป็นการทำตามหน้าที่ แต่ศาลกงสุลของฝรั่งเศสในไทยตัดสินให้จำคุก ท่านก็ต้องติดคุกเพื่อชาติ เรื่องนี้คนไทยทั้งแผ่นดินในขณะนั้นแค้นแทบจะกระอักเลือดเลย เกือบจะทำสงครามกันรอมร่ออยู่แล้ว ดีแต่องค์พระปิยมหาราชเจ้าท่านทรงดำเนินวิเทโศบายด้านต่างประเทศด้วยการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปเสียก่อน แล้วพระองค์ก็ทรงทำสำเร็จเสียด้วย ผู้ที่แค้นแทบจะกระอักเลือดแทน ก็คงจะเป็น “เจ้าเศษฝรั่ง” น่ะเอง ซึ่งมันก็รอจังหวะและโอกาสที่จะล้างแค้นเหมือนกัน มันคิดว่า
“หากไม่มีล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสียพระองค์หนึ่ง สยามประเทศเราก็เปรียบเสมือนมังกรที่ไร้หัว” ที่นี้คงมีโอกาสมากขึ้นหากจะฮุบประเทศชาติของเราไว้ในกำมือ และแล้วแผนการอันแยบยลก็อุบัติขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จเยือนประเทศฝรั่งเศส แม้เขาจะต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงหน้าฉากเท่านั้น หลังฉากน่ะหรือ ? ได้กำหนดขึ้นเพื่อต้อนรับพระองค์ไว้เรียบร้อยแล้ว ในสนามแข่งม้าชานกรุงปารีสนั่นเอง เมื่อพระองค์ได้รับคำทูลเชิญให้เสด็จทอดพระเนตรการแข่งม้านัดสำคัญนัดหนึ่ง ซึ่งมีขุนนาง ข้าราชการ พระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศสมาชมกันมาก พวกมันได้นำเอาม้าดุร้ายและพยศอย่างร้ายกาจมาถวายให้ทรงประทับ โดยถือโอกาสขณะที่อยู่ท่ามกลางมหาสมาคม แม้รู้ว่าม้านั้นดุร้าย พระปิยมหาราชเจ้าก็จะไม่ทรงหลีกหนี ด้วยขัตติยะมานะที่ทรงมีอยู่ในฐานะผู้นำประเทศ หากทรงพลาดพลั้งนั่นคือ “อุบัติเหตุ” ใครก็จะเอาผิดหรือต่อว่าเจ้าเศษฝรั่งไม่ได้
ม้าตัวนั้นเล่าลือกันว่า เคยโขกกัดผู้เลี้ยงดูและผู้หาญขึ้นไปขี่ตายมาแล้วหลายคน จะเอาไปไหนต้องมีคนจูงด้วยเชือกล่ามเท้าทั้งสี่ไว้ เพื่อป้องกันการพยศและขบกัดผู้คน นัยว่าเป็นม้าของเจ้าชายแห่งฝรั่งเศสพระองค์หนึ่ง เมื่อถูกนำเข้ามาในสนาม ทุกคนก็ส่งเสียงร้องด้วยความตกใจและหวาดกลัว ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มวางหลุมพราง โดยกราบบังคมทูลว่า “ไม่ทราบเกล้าว่าเมื่ออยู่ในสยามประเทศเคยทรงม้าหรือไม่ พระเจ้าข้า”
“แน่นอน ข้าพเจ้าเคยทรงอยู่เป็นประจำ เพราะในสยามประเทศก็มีม้าพันธุ์ดีอยู่มาก”
“โอ วิเศษ ขออัญเชิญพระองค์ทรงเสด็จขึ้นทรงม้า ตัวที่กำลังถูกจูงเข้ามานี้ ให้ประจักษ์ชัดแก่สายตาของผู้คนในสนามม้านี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
ตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศสกราบทูลด้วยความกระหยิ่มใจ “แน่นอน ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านทั้งหลายได้ดูว่า กษัตริย์แห่งสยามประเทศนั้นไม่เคยหวาดหวั่นกลัวแม้แต่อัสดรที่พยศดุร้าย หรือผู้คุกคามที่มีอาวุธพร้อมสรรพ”
จบพระราชดำรัสก็ทรงลุกขึ้นเปิดพระมาลาขึ้นรับการปรบมืออันกึกก้องสนามม้าแห่งนั้น แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงจากอัฒจันทร์ สู่ลู่ด้านล่าง ซึ่งขณะนั้นม้ายืนส่งเสียงร้อง และเอากีบเท้าตะกุยจนหญ้าขาดกระจุยกระจาย
คำพยากรณ์ของพระปลัดเอี่ยมยังกึกก้องอยู่ในพระกรรณ ทรงก้มพระวรกายลงใช้พระหัตถ์ขวารวบยอดหญ้าแล้วดึงขึ้นมากำมือหนึ่ง ทรงตั้งจิตอธิษฐานถึงพระรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช และพระปลัดเอี่ยม เจริญภาวนาพระคาถาอิติปิโสเรือนเตี้ยที่พระปลัดเอี่ยมถวายสามจบ ทรงเป่าลมจากพระโอษฐ์ลงไปบนกำหญ้านั้น แล้วแผ่เมตตาซ้ำ ยื่นส่งไปที่ปากม้า เจ้าสัตว์สี่เท้าผู้ดุร้ายสะบัดแผงคอส่งเสียงดังลั่นก่อนจะอ้าปากงับเอาหญ้าในพระหัตถ์ไปเคี้ยวกิน แล้วก็กลืนลงไป
ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสโบกผ้าเช็ดหน้า เป็นสัญญาณให้แก้เชือกที่ตรึงเท้าม้าออกไปพ้นทั้งสี่เท้า บัดนี้เจ้าสัตว์ร้ายพ้นจากพันธนาการ และบรรดาผู้ที่จูงมันเข้ามาก็ผละหนี เพราะเกรงกลัวในความดุร้ายของมัน องค์พระปิยะมหาราชเจ้าทรงทอดสายพระเนตรจับจ้องอยู่ที่นัยน์ตาของม้านั้น ก็เห็นว่ามันมีแววตาอันเป็นปกติ มิได้เหลือกโปนดุร้าย ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปตบที่ขาหน้าของมันสามครั้ง เจ้าม้านั้นก็ก้มหัวลงมาดมที่พระกรไม่แสดงอาการตื่น หญ้าเสกสำริดผลตามประสงค์
อาชาที่ดุร้ายกลับเชื่องลงเหมือนม้าลากรถ เจ้าชีวิตแห่งสยามประเทศยกพระบาทขึ้นเหยียบโกลนข้างหนึ่ง แล้วหยัดพระวรกายขึ้นประทับบนอานม้าอย่างสง่างาม ไร้อาการต่อต้านของม้าที่เคยดุร้าย เสียงคนบนอัฒจันทร์ส่งเสียงตะโกนขึ้นเป็นเสียงเดียวกันว่า “บราโวส บราโวส” อันหมายถึงว่า “วิเศษที่สุด เก่งที่สุด ยอดที่สุด” ทรงกระตุ้นม้าให้ออกเดินเหยาะย่างไปโดยรอบสนาม ผ่านอัฒจันทร์ที่มีผู้คนคอยชม เปิดพระมาลารับเสียงตะโกนเฉลิมพระเกียรติ บางคนก็โยนหมวก โดยมีดอกกุหลาบลงมาเกลื่อนสนามตลอดระยะทางที่ทรงเหยาะย่างม้าผ่านไปจนครบรอบ จึงเสด็จลงจากหลังม้ากลับขึ้นไปประทับบนพระที่นั่งตามเดิม
บรรดาพี่เลี้ยงม้าก็เข้ามาจูงม้านั้นออกไปจากสนาม คำพยากรณ์ข้อที่ ๒ และคาถาที่พระปลัดเอี่ยมแห่งวัดโคนอนถวาย ได้สำริดผลประจักษ์แก่พระราชหฤทัย ทรงระลึกถึงพระปลัดเอี่ยมว่า เป็นผู้ที่จงรักภักดีโดยแท้จริง และได้ช่วยให้ทรงผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายมาถึงสองครั้งสองครา และทั้งหมดนี้คือจุดเล็กๆ ในเกร็ดพระราชประวัติ เป็นปฐมเหตุแห่งพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระราชวังดุสิต ที่เล่าขานกันต่อมาช้านาน และยังคงกึกก้องในโสตประสาทของปวงชนชาวไทยต่อไปชั่วกาลปาวสาน
แสดงความคิดเห็น