ธรรม และเพลงบูชา :

ประวัติหลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ประวัติหลวงพ่อพุธ ฐานิโย 



วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

โพสท์ในลานธรรมเสวนาโดยคุณ : ทรายแก้ว [ 19 พ.ย. 2542 ]
ประวัติ พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) พระราชสังวรญาณ มีนามเดิมว่า พุธ อินทรหา เป็นบุตรคนเดียวของ บิดา-มารดา เกิดที่หมู่บ้านชนบท ตำบลหนองหญ้าเซ้ง อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี เมื่อเดือน ๓ ปีระกา ตรงกับวันพุธที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔
บิดา-มารดาของท่าน มีอาชีพทำไร่ทำนา และค้าขาย เมื่อท่านอายุได้ ๔ ขวบ บิดา-มารดาได้ถึงแก่กรรม ญาติที่อยู่ ณ หมู่บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร จึงมารับท่านไป อุปการะ
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ อายุท่านได้ ๘ ขวบ จึงเข้าเรียนในโรงเรียน ประชาบาลวัดไทรทอง ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน ท่านได้เรียน จนจบชั้นประถมปีที่ ๖ เมื่อมีอายุได้ ๑๔ ปี ในสมัยนั้น ถ้าย้อนหลังไป ๖๐-๗๐ ปี การได้เรียนจนจบชั้นประถมปีที่ ๖ ได้ ต้องถือว่าเป็นการเรียน ที่สูงพอสมควรแล้ว เมื่อเรียนจบแล้วครูบาอาจารย์ได้ชักชวนท่านให้เป็น ครูสอนนักเรียนในโรงเรียนที่ท่านเรียนนั้นต่อ หากทว่าจิตของท่านมุ่งมั่น สนใจที่จะบวชมากกว่า
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุได้ ๑๕ ปี ท่านจึงได้ขอร้องให้ญาติซึ่งเป็น ผู้ปกครองของท่าน พาไปบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอินทร์สุวรรณ บ้าน โคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีท่าน พระครูวิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านพระครูโพธิภูมิไพโรจน์เป็นพระบรรพชาจารย์ และสามเณรพุธได้ อาศัยอยู่จำพรรษากับท่านพระครูโพธิภูมิไพโรจน์นั่นเอง ท่านได้รับเมตตา จากพระอาจารย์ให้ได้ศึกษาทางด้านปริยัติธรรมด้วย และในพรรษาแรกนี้เอง สามเณรพุธสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลังจากออกพรรษา เป็นเหตุบังเอิญให้ในขณะนั้นที่ท่าน เจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง) ได้เดินธุดงค์มายังจังหวัดสกลนคร ในฐานะเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔ แทนพระอาจารย์ของสามเณรพุธ อันได้แก่ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่าน เจ้าคุณพระอริยคุณาธาร ได้เกิดความเมตตาต่อสามเณรพุธเป็นอย่างมาก สามเณรพุธจึงมีโอกาสได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธารธุดงค์ออก จากอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้น ทางคมนาคมยังไม่สะดวก ต้องเดินด้วยเท้าไปตามทางเกวียน ผ่านป่าเขาต่างๆ ท่านเล่าว่าต้องใช้เวลาถึง ๓๑ วัน จึงเดินเท้ามาถึง จังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างทาง บางทีเหนื่อยนักเมื่อยนักก็พักค้าง แห่งละ ๒-๓ วัน บางช่วงในขณะที่เดินรอนแรมในป่า ก็หลงดงหลงป่าบ้าง บางวันไม่ได้ฉันข้าว เพราะหมู่บ้านห่างกันมาก เดินทางออกจากหมู่บ้าน แห่งหนึ่ง ตั้งแต่เช้าจนค่ำก็ยังไม่เจอหมู่บ้านอีกหนึ่งเลย ป่าดงในสมัยนั้น ก็ยังมีสัตว์ป่าชุกชุม บางครั้งได้ยินเสียงเสือเสียงสัตว์ต่างๆร้อง บางครั้ง เสือมันก็กระโดดข้ามทางที่จะเดินไปก็มี
เมื่อเดินทางไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าพักที่วัดบูรพา และฝากตัว เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์พร (พี่ชายของพระอาจารย์บุญ ชินะวังโส) ท่านพระอาจารย์พรเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ ซึ่งในขณะนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบูรพาด้วย สามเณรพุธจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์เสาร์ และเริ่มรับ การอบรมทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นครั้งแรก แต่เดิมทีในสมัยแรก ที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ท่านได้บรรพชาในสังกัดมหานิกายคณะ
ที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี แห่งนี้ นอกจากจะได้รับการ อบรมทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ท่านยังได้ศึกษาทางด้านพระ ปริยัติธรรมอีกด้วย และสามารถสอบได้นักธรรมเอก เมื่อมีอายุเพียง ๑๘ ปี
ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้พาสามเณรพุธ เดินธุดงค์ จากจังหวัดอุบลราชธานีเข้ามายังกรุงเทพฯ และพาไปฝากตัวกับท่านเจ้าคุณ ปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ให้ช่วยอบรมสั่งสอน สามเณรพุธจึงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และสามารถสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรนั่นเอง
สามเณรพุธได้จำพรรษาเรื่อยมา ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร แห่งนี้ จนอายุได้ครบบวช ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านจึงได้รับการอุปสมบท โดยมีท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) พระอาจารย์ของท่านเป็น พระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า "ฐานิโย"
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นสมัยสงครามเอเซียบูรพา ท่านได้อพยพ กลับไปจำพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี และท่านได้อยู่จำพรรษา ที่วัดนี้ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ในระหว่างนั้นท่านได้เกิดอาพาธหนัก เป็น วัณโรคอย่างแรง จนหมอไม่รับรักษา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ท่านพระ อาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดบูรพา ตามคำสั่งของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เช่นกัน ท่านพระอาจารย์ฝั้นสอนให้ ท่านตั้งใจเพ่งอาการ ๓๒ โดยให้พิจารณาถึงความตายให้มากที่สุด ทั้งยัง คอยให้กำลังใจกับท่านตลอดเวลา
หลวงพ่อพุธ ท่านเล่าว่า ขณะที่ท่านป่วยเป็นวัณโรคนั้น ท่านต้องรักษา พยาบาลตัวเอง ตั้งหน้าตั้งตามุ่งมั่นปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา โดยมุ่งที่จะพิจารณาดูความตายเท่านั้น โดยคิดว่า "ก่อนที่เราจะตายนั้น ควรจะได้รู้ว่า ความตายคืออะไร" จึงได้ตั้งอกตั้งใจพิจารณาดูความตาย อยู่เป็นเวลาหลายวัน ในวันสุดท้ายได้ค้นคว้าพิจารณาดูความตายอยู่ถึง ๗ ชั่วโมง ในตอนแรกที่พิจารณา เพราะความอยากรู้อยากเห็นว่า ความตาย คืออะไร ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นนี้เป็นอาการของกิเลส กิเลสจึงปิดบังดวงใจ ทำให้ความสงบใจที่เป็นสมาธิก็ไม่มี ความรู้แจ้งเห็นจริงก็ไม่มี ท่านเริ่มนั่ง สมาธิตั้งแต่ ๓ ทุ่ม จนกระทั่งเวลาตี ๓ จนเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยแทบจะ ทนไม่ไหว ในขณะนั้นความรู้สึกทางจิตมันผุดขึ้นมาว่า "ชาวบ้านชาวเมือง ทั้งหลายเขานอนตายกันทั้งนั้น ท่านจะมานั่งตาย มันจะตายได้อย่างไร" ท่าน จึงเอนกายลงพร้อมกับกำหนดจิตตามไปด้วย เมื่อเกิดความหลับขึ้น จิตกลาย เป็นสมาธิแล้ว จิตก็แสดงอาการตาย คือวิญญาณออกจากร่างกายไปลอยอยู่ เบื้องบนเหนือร่างกายประมาณ ๒ เมตร แล้วส่งกระแสออกมา รู้กายที่นอน เหยียดยาวอยู่ แสดงว่าได้รู้เห็นความตาย ลักษณะแห่งความตาย ในเมื่อตาย แล้ว ร่างกายก็ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังไปตามขั้นตอน ในเมื่อร่างกายที่มองเห็น อยู่นั้นสลายตัวไปหมดแล้ว ก็ยังเหลือแต่จิตว่าง จิตว่างแล้วก็ยังมองเห็นโลก คือแผ่นดิน ในอันดับต่อมาโลกคือแผ่นดินก็หายไป คงเหลือแต่จิตดวงเดียว ที่สว่างไสวอยู่ มองหาอะไรก็ไม่พบ พอจิตมีอาการไหว เกิดความรู้สึกขึ้นมา ก็เกิดความนึกคิดขึ้นมาว่า "นี่หรือคือความตาย" อีกจิตหนึ่งก็ผุดขึ้นมารับว่า "ใช่แล้ว" ก็เป็นอันว่าได้รู้จริงเห็นจริงในเรื่องของความตายด้วยประการฉะนี้
ในเรื่องของจิตที่เป็นสมาธินั้น ท่านมักจะกล่าวเสมอว่า สมาธินั้นมีอยู่ในตัว ของเราอยู่แล้ว แต่เรามักไม่ได้นำเอาออกมาใช้ฝึกฝนให้เป็นประโยชน์ สำหรับเรื่องจิตเป็นสมาธิของหลวงพ่อพุธ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ในตอนเด็กๆ มีเกิดขึ้นโดยท่านไม่ทราบ ไม่รู้จักมาก่อนเช่นกัน กล่าวคือ สมัยที่ท่านเป็น สามเณร ในวันหนึ่งท่านพระอาจารย์ของท่านไม่อยู่ และสั่งให้ท่านคอยเฝ้ากุฏิไว้ ท่านจึงลงนั่งอยู่ที่หน้าประตูกุฏิ ในระหว่างที่คอยอยู่นั้น จิตของท่านก็เข้าภวังค์ ลงสู่สมาธิ นิ่งสงบอยู่นานมาก นานจนพระอาจารย์ของท่านกลับมา พระอาจารย์ และชาวบ้านที่ติดตามมาด้วยเรียกท่านอยู่นาน เรียกอย่างไร...อย่างไร ท่านก็ ไม่ไหวติง จนชาวบ้านผู้นั้นมาผลักท่านกระเด็นออกไป นั่นแหละท่านจึงรู้สึกตัว ออกจากสมาธิ ชาวบ้านผู้นั้นว่ากล่าวท่าน...ว่าหลับไม่รู้เรื่อง เรียกอย่างไร เรียกเท่าใดก็ไม่ตื่น ท่านปฏิเสธว่าไม่ได้หลับ ชาวบ้านผู้นั้นก็ไม่ยอมเชื่อ หลวงพ่อพุธท่านเล่าว่า ในขณะที่คอยนั้น ท่านรู้สึกตัวตลอดเวลา และไม่ได้หลับ หลังจากปฏิเสธหลายครั้งและไม่มีใครเชื่อ ท่านจึงตัดความรำคาญด้วยการรับ สมอ้างว่าหลับ ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อท่านย้อนกลับไปพิจารณาอีกครั้ง จึงได้ทราบ แน่ชัดว่า เหตุการณ์ในครั้งเป็นสมาเณรนั้น ก็คือจิตเป็นสมาธินั่นเอง
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อพุธ ได้มาจำพรรษาที่วัดเขาสวนกวาง จังหวัด ขอนแก่น อาการป่วยด้วยโรควัณโรคยังไม่หายขาด ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร จึงได้เร่งเตือนท่านว่า "คุณอย่าประมาท รีบเร่งปฏิบัติเข้าให้มันได้ภูมิจิตภูมิใจ อนาคตคุณจะไปนั่งเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง"
อาการป่วยของท่านเป็นๆหายๆ เรื่อยมาจนถึง ๑๐ ปี จึงได้หายอย่างเด็ดขาด ในปีถัดมา คือ พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัด อุบลราชธานี อีกจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๕ และในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ นี้เอง ท่านได้รับ การแต่งตั้งให้ช่วยงานเกี่ยวกับคณะสงฆ์ กล่าวคือ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๐
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้เอง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ พระครูพุทธิสารสุนทร และ ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับพระราชทาน สมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตร ชั้นโท ในนามเดิม และในปีถัดมา พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก ในนามเดิม
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ท่านจึงมาจำพรรษาที่วัดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ท่านดำรงตำแหน่ง เป็นเจ้าคณะจังหวัดอยู่เป็นเวลา ๒ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ นี้เอง ท่านยังได้รับ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นพิเศษ ในนามเดิมอีกด้วย ท่านจำพรรษา ณ วัดหลวง แห่งนี้ เป็นเวลา ๒ ปี และในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับ พระราชทานสมณศักดิ์อีกครั้ง เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระชินวงศาจารย์
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้มีการตั้งโรงเรียนพระสังฆาธิการขึ้นที่ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทางเจ้าคณะภาคฯ ได้ขอให้ท่านมาเป็น กรรมการบริหารโรงเรียนพระสังฆาธิการในส่วนภูมิภาค ท่านจึงย้ายมาเป็น เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านได้ทำประโยชน์ ทั้งต่อพระบวรพุทธศาสนา และ ต่อสังคม เป็นอเนกอนันต์ โดยสม่ำเสมอเรื่อยมา ทั้งที่เป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านรับเป็นองค์อุปถัมภ์ มูลนิธิ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านรับเป็นประธานและวิทยากรในการอบรมสมาธิครูและนักเรียนของเขต การศึกษาที่ ๑๑ อันได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัด บุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักและ น่าเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง และในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นี้เอง ท่านได้รับ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระภาวนา พิศาลเถร ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านรับเป็นผู้อำนวยการศูนย์อบรม สมาธิภาวนาวัดป่าสาลวันอีกประการหนึ่ง ในปีถัดมา พ.ศ. ๒๕๓๐ ท่านรับเป็นองค์อุปถัมภ์ทุนมูลนิธิคณะสงฆ์ธรรมยุต จังหวัดนครราชสีมา และในปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๑ ท่านรับเป็นองค์อุปถัมภ์ กองทุนพระภาวนา พิศาลเถร เพื่อการพัฒนาคุณธรรมในเขตการศึกษาที่ ๑๑ (ปัจจุบันเปลี่ยน ชื่อเป็นกองทุนสายธารธรรม ในความอุปถัมภ์ของพระราชสังวรญาณ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ) แม้ว่าหลวงพ่อพุธ ท่านจะมีภารกิจทางศาสนาและการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมมากมาย แล้วก็ตาม เมื่อมีผู้ขอให้ท่านช่วยในกิจกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อ สังคมอีก ท่านก็เมตตารับเป็นธุระให้ ทำให้ภารกิจของท่านมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้เอง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสังวรญาณ
ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เรื่อยมา หลวงพ่อพุธท่านจะจำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา บ้าง หรือที่วัดวะภูแก้ว อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา บ้าง หรือที่วัดป่าชินรังสี อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา บ้าง สลับกันไป-มา
และตลอดมา หลวงพ่อพุธมิได้เคยหยุดที่จะทำประโยชน์ต่อพระบวร พุทธศาสนาและต่อสังคมไทย ท่านยังคงรับเป็นองค์บรรยายธรรม และ อบรมสมาธิภาวนาให้กับพุทธบริษัทในสถานที่ต่างๆมาตลอด อาทิเช่น
- อบรมธรรมปฏิบัติแก่ข้าราชการทหารบก กองทัพภาคที่ ๒ - เป็นองค์บรรยายในการอบรมแก่ข้าราชการทหารอากาศกองบินที่ ๑ - ให้การอบรมแก่ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ - ให้การอบรมแก่ผู้ที่เข้าปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ - บรรยายธรรมในงานวันวิสาขบูชา ในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่ท้องสนามหลวง เป็นต้น
และในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้เอง ท่านได้รับพระราชทานรางวัล เสมาธรรมจักรทองคำ ในด้านส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในประเทศ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้เช่นกัน ท่านได้ดำริที่จะก่อตั้งมูลนิธิคณะสงฆ์ จังหวัดนครราชสีมา มหานิกาย และธรรมยุตขึ้น
นอกจากท่านจะเอาใจใส่ในเรื่องอบรมธรรมปฏิบัติแล้ว ท่านยังสร้าง ประโยชน์ต่างๆให้กับสังคมไทยมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ เด็กนักเรียน โรงเรียน และโรงพยาบาล อาทิเช่น
- จัดสร้างโรงเรียนชินวงศ์อุปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในระดับประถม ศึกษา ที่บ้านวะภูแก้ว อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา - มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งในระดับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา - มอบทุนสนับสนุนการก่อสร้างอาคารโรงเรียนต่างๆ ทั้งในเขต จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดต่างๆ - มอบทุนสนับสนุนการก่อตั้งมูลนิธิของโรงเรียน ตลอดจนหน่วยงาน ราชการต่างๆ - นอกจากนี้ท่านยังช่วยจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลเสมอๆ - อีกทั้งยังมอบทุนสนับสนุนการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาล มหาราช จังหวัดนครราชสีมา - รวมทั้งมอบทุนสนับสนุนการก่อตั้งมูลนิธิของโรงพยาบาลต่างๆอีกด้วย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านมุ่งมั่นในเรื่องการอบรมธรรมปฏิบัติให้กับพระ ภิกษุสามเณร ศรัทธาญาติโยม และพุทธบริษัททั้งหลาย เสมอมา ท่าน หวังให้ทุกผู้ทุกคนได้เข้าใจถ่องแท้ถึงแก่นแห่งพระพุทธศาสนา สามารถ นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกทางและถูกต้อง จะเห็นได้ว่า ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา เอาใจใส่ในอันที่จะชี้นำทางแห่งความสงบ สว่าง และหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง ในทุกๆวิถีทาง และในทุกๆโอกาส โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย..เหนื่อยยาก แม้ว่าวัยของท่านจะสูงขึ้น สุขภาพของท่านเริ่มถดถอย แต่ภารกิจของท่านก็ยังคงมีมากมาย และ ดูเหมือนจะทยอยมีมาเพิ่มขึ้นเสมอๆ การดั่งนี้จึงเป็นที่เคารพบูชายกย่อง สรรเสริญจากพระภิกษุสามเณร และบรรดาศิษยานุศิษย์ทุกถ้วนหน้า สมดังพระหัตถเลขาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก ในธรรมโมทนาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ จาก หนังสือ ฐานิยปูชา ฉบับครบ ๖ รอบ ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ที่ว่า....
"ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ เป็นพระเถราจารย์ผู้ทำประโยชน์แก่ พระศาสนาและประชาชนมามาก เป็นผู้ยินดีเอาใจใส่ในการอบรมสั่งสอน ธรรมะแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดถึงสาธุชนผู้มาสู่สำนักด้วยเมตตา เป็นผู้ชี้นำในธรรมปฏิบัติ ทั้งเป็นผู้ปฏิบัติสำรวมตนในพระธรรมวินัย เป็นแบบอย่างอันดีแก่ศิษยานุศิษย์มาโดยตลอด กล่าวได้ว่าเป็นผู้ทรง เถรธรรมตามนัยแห่งพระพุทธภาษิต ที่ว่า...
ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ อหึสา สญฺญฺโม ทโม ส เว วนฺตมโล ธีโร โส เถโรติ ปวุจฺจติ
สัจจะ (ความจริง) ๑ ธรรม ๑ ความไม่เบียดเบียน ๑ ความสำรวม ๑ ความข่มใจ ๑ มีในผู้ใดผู้นั้นแล ท่านเรียกว่า ผู้มีปัญญา มีมลทินอัน คลายแล้วเป็นเถระ ดังนี้"
จากหนังสือพระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย โดยธรรมสภา



Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. มหาเทพ - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger